วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

[Graphic pen art] ก้าวสู่สังเวียนเปื้อนดินแห่งศาสตร์มัลลยุทธ์ (Kushti-Pehlwani story)

ห่ะบัตยูวววว...


เนื้อหาผลงานในเอนทรีนี้อาจจะดูนอกกระแสไปหน่อย แต่อยากจะถ่ายทอดถึงเรื่องราวของศิลปะการต่อสู้ของอินเดีย อย่างมวยปล้ำที่เรียกตัวมันเองว่า กุศตี (Kushti, ฮินดี : कुश्ती) หรือ ปหลวานี (Pehlwani, ฮินดี : पहलवानी) เพราะเราต้องการจะลงลึกไปให้ถึงเบื้องหลังต่างๆ ของการฝึกฝนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์มัลลยุทธ์ (Malla yuddha, ฮินดี : मल्लयुद्ध) แน่นอนผู้ชมเองนั้นก็เคยได้ดูรายการทางช่อง Thai PBS มาบ้าง อย่างรายการ "หนังพาไป" ได้อ่านเนื้อหาเต็มๆ จากนิตยสาร National Geographic ในเครืออัมรินทร์กรุ๊ป หรือแม้กระทั่งได้รับชมภาพยนตร์บอลลีวูด ที่พูดถึงเนื้อหาดังกล่าวด้วย เหตุนี้เองจึงได้วางแผนทำผลงานวาดที่เกี่ยวข้องมาอวดให้ได้รับชมกันที่นี่เลย

-------------------


จุดเริ่มต้นของศาสตร์มวยปล้ำกุศตี




หนึ่งในขั้นตอนแรกของการฝึกสอนฝึกซ้อม ก็ต้องรวมพลสวดมนต์กราบไหว้เทพเจ้าฮินดูเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึง "หนุมาน" เป็นเหมือนจุดศูนย์รวมของความศรัทธาที่มาพร้อมกับความแข็งแกร่ง กล้าหาญ และแฝงไว้ด้วยความสมถะ กับการประพฤติพรตพรหมจรรย์ ในช่วงตลอดกิจกรรมเหล่านี้ โดยมีอยู่ในโรงฝึกทุกที่ทั่วอินเดียเลยก็ว่าได้


ภูมิปัญญาของการออกกำลังแขน




อุปกรณ์การออกกำลังกายที่พบเห็นได้ง่ายในโรงฝึกอย่างเชือก อาจพาดขึงอยู่กับกิ่งไม้ใหญ่ หรือคานของสิ่งปลูกสร้าง เพียงแค่ปีนป่ายขึ้นไปจนถึงด้านบนสุด แล้วปีนกลับลงมาถึงพื้นโดยปลอดภัย นอกเหนือจากอุปกรณ์ออกกำลังกายชนิดอื่นๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่เดียวกัน


แอบดูถึงจะรู้ว่าเป็นอย่างไร




ก่อนที่จะเข้าสู่การฝึกฝนฝึกซ้อมใดๆ ก็น่าจะได้ลองนุ่งผ้าเตี่ยวลักษณะแปลกๆ ดูสักครั้ง (langot / langota / langoti, ฮินดี : लंगोट, लंगोटी) ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ส่วนใหญ่ผู้ชายเท่านั้นที่จะสวมใส่ได้ แต่ในตอนลงแข่งขันจะต้องสวมกางเกงชั้นใน หรือ ชุดเอี๊ยมนักกีฬาทับอีกที



การต่อสู้ที่เปิดกว้างให้กับเพศสตรี




เดิมทีศาสตร์มวยปล้ำกุศตีจะถูกจำกัดเฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่จะได้เรียนได้ฝึกฝน เพราะต้องใช้ชีวิตที่ต้องยึดติดการการถือพรหมจรรย์ ต้องควบคุมอาหารโดยเน้นรับประทานเฉพาะมังสวิรัติล้วน ห่างจากอบายภูมิต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย แต่เมื่อยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวด้านการให้สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง ศาสตร์มวยปล้ำกุศตีนั้นก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่กับเพศชายอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ก็ยังคงวิถีปฏิบัติบางส่วนไว้เหมือนเดิม

-------------------

ผลงานวาดหลักทั้ง 4 ชิ้นนี้ถือว่าเป็นตัวบุกเบิกชุดผลงานหัวข้อศาสตร์มวยปล้ำกุศตี ซึ่งอาจจะมีทำออกมาเรื่อยๆ น่าจะหลายเวอร์ชัน ถ้าหากมีเวลามากพอที่จะกลับมาทำซ้ำ หรือ เปิดมุมมองใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้ลอง ทั้งการควงคฑา(Gada) ท่าวิดพื้นออกกำลังกายที่พิสดารกว่าแบบมาตรฐานทั่วไป และการออกกำลังแบบอื่นๆ ที่ยังไม่ได้นำเสนอ แน่นอนแรงบันดาลใจก็ได้มาจากเอนทรี [Graphic pen art]วาดอะไรก็ได้สไตล์วันชาติอินเดีย (India Independence Day 2018) ที่เคยเขียนถึงเอาไว้ด้วยนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น