วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564

[รวมมิตรเฉพาะกิจ] ตามรอยตำนานผ้าเตี่ยว ตอนที่สาม (Lore of loincloth 3)

ห่ะบัตยูวววว....


เนื้อหาของเอนทรีนี้เป็นการนำเอาเรื่องราวของ "เครื่องแต่งกายขั้นพื้นฐาน" กลับมาทำใหม่อีกครั้งหลังจากที่เคยเขียนไว้ใน Exteen เมื่อปี 2553 อาจจะมีส่วนใดส่วนหนึ่งที่ดูละเอียดอ่อน รวมถึงภาพประกอบที่นำมาใช้ แนะนำว่าดูเป็นความรู้พร้อมกับครอบครัว หรือผู้เชี่ยวชาญไปก่อนก็ได้ หรือถ้าอายุเยอะแล้วก็ไม่ว่ากัน

จากตอนที่แล้วกับเอนทรี [รวมมิตรเฉพาะกิจ] ตามรอยตำนานผ้าเตี่ยว ตอนที่สอง (Lore of loincloth 2) เป็นการนำมาแปล เรียบเรียง แล้วเขียนเนื้อหาขึ้นมาใหม่ตามที่เข้าใจ ตามประสบการณ์ที่มี ตอนล่าสุดนี้จะพาไปรู้จักกับแดนภารตวรรษที่บอกให้รู้ว่า ผ้าเตี่ยวที่อินเดียก็มีด้วยนะจ๊ะนายจ๋า แต่ปรากฏให้เห็นน้อย ครั้งนี้มีข้อมูลไม่มาก แต่จะลงลึกว่าจริง ๆ แล้วผ้าเตี่ยวอินเดียในอดีตที่เคยสวมใส่นั้นมีอะไรบ้าง ส่วนใหญ่แล้วใครจะสวมใส่ ถึงแม้ว่าปัจจุบันเราอาจจะไม่ได้เห็นคนอินเดียสมัยใหม่สวมใส่เครื่องแต่งกายพื้นถิ่นให้เห็น เว้นแต่ว่าภาคพื้นภูธรนั้นยังมีอยู่บ้าง หรือว่าเฉพาะกลุ่มจริง ๆ 

หมายเหตุ : หัวข้อไหนที่ไม่มีรูปภาพประกอบ ก็ต้องขออภัยที่หาแหล่งต้นฉบับอ้างอิงไม่ได้ หรือถ้าจัดหามาได้แล้ว จะรีบดำเนินการเพิ่มเติมให้ในภายหลัง

-------------------

เกาปินา (Kaupina) ผ้าเตี่ยวเชิงศาสนาของนักบวชฮินดู


[Anime] Complete wearing of Kaupina-Kaupinam-Komanam-Konakam.

เกาปีนะ-เกาปินา-เกาปินัม-โกมานัม-โกนากัม (Kaupina-Kaupinam-Komanam-Konakam, ฮินดี : कौपीन, कौपिन, कौपिनम ทมิฬ : கோவணம் มาลายัม : കോണകം, കൗപീനം) เป็นผ้าเตี่ยวที่นักบวชชายในศาสนาฮินดูนำไปใช้สวมใส่ตัังแต่ยุคประวัติศาสตร์เมื่อ 1,500-2,000 กว่าปี มีทั้งแบบชิ้นเดียว (one-piece) และแบบสองชิ้น (two-pieces, breechcloth) วัสดุส่วนใหญ่จะทำจากผ้าฝ้าย หรือเนื้อผ้าบางชนิดจากเครื่องแต่งกายอื่น ๆ ที่ผู้คนไม่ต้องการแล้ว หยิบเอาชิ้นส่วนที่หาได้ง่าย ๆ มาทำเป็นส่วนคาดขัดเอวคล้ายเชือก และส่วนปกปิดเครื่องเพศ แต่ด้วยความที่ว่าการทำผ้าเตี่ยวของนักบวชนั้นเป็นการใช้วัสดุที่คุ้มค่า เอาส่วนที่ยังใช้งานได้จากเสื้อผ้าสภาพชำรุด มาดัดแปลงให้เป็นเครื่องแต่งกายของนักบวชแบบสมถะ อยู่แบบมักน้อยต้นทุนต่ำ กระทั่งชาวบ้านระดับล่าง ๆ ต่างก็นำเอาไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ไม่เว้นแม้กระทั่งถูกใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ผ่านกลุ่มผู้ประท้วงผู้ชุมนุมที่เป็นเกษตรกรด้วย (เหตุเมื่อช่วงปี ค.ศ. 2017)

เราจะได้เห็นนักบวชนุ่งเกาปินาเต็มรูปแบบทั้งไศวนิกาย-ไวษณวนิกาย หลายสำนัก ในช่วงของเทศกาลกุมภเมลา (Kumbh Mela, ฮินดี : कुम्भ मेला) ที่หริทวาร นาสิก อุชเชน และอัลลาฮาบัด หรือตอนลงมาอาบน้ำที่ริมแม่น้ำคงคา เมืองพาราณสีซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้บ่อยเฉพาะเมืองนี้ และจะได้เห็นเทพเจ้าฮินดู ทั้งพระศิวะ (รวมถึงอวตารกึ่งเปลือย) พระมุรุกันปาลานี (พระขันธกุมาร) พระทัตตาเตรยะ วามนอวตาร (พระวิษณุ) พระหนุมาน เป็นต้น ในลักษณะนุ่งผ้าเตี่ยวจากภาพวาด หรือ รูปปั้นเคารพบูชานั้นด้วย

ลักษณะของเกาปินานั้นส่วนใหญ่จะเป็นแบบสองชิ้นแยกกัน ซึ่งรายละเอียดและวิธีการสวมใส่จะเป็นดังรูป


Detail about Kaupina-Kaupinam-Komanam-Konakam


How to tie Kaupina-Kaupinam-Komanam-Konakam, step 01-05 [full]


ผ้าเตี่ยวสำหรับนักมวยปล้ำกุศตี (Langot, Langota, Langoti)


[Anime] Complete wearing of langot-langota-langoti.

จริง ๆ แล้ว ชื่อผ้าเตี่ยวนี้เป็นการเรียกทับศัพท์คำว่า Loincloth ตรง ๆ ไม่ได้มีชื่ออื่นรองรับเฉพาะเลย (ฮินดี : लंगोटी, लंगोट ทมิฬ : லங்கோடு ญี่ปุ่น : ランゴータ) ถือว่าเป็นผ้าเตี่ยวอินเดียในยุคที่ใหม่กว่าเกาปินา ลักษณะเป็นชิ้นเดียวตัดเย็บขึ้นรูปคล้ายตัววาย/ตัวที มีขนาดที่ใกล้เคียงกันกับเอชชุ ฟุนโดชิของฝั่งญี่ปุ่น ยาวประมาณ 39.37 นิ้ว (100 เซนติเมตร หรือมากกว่า) กว้าง 4.72 นิ้ว (12 เซนติเมตรโดยประมาณ) มีปลายเชือกทั้ง 2 ฝั่งไว้ผูกเอว เพื่อการสวมใส่ที่สะดวก รวดเร็ว ส่วนวัสดุก็ทำจากผ้าฝ้าย หรือสามารถดัดแปลงจากเสื้อผ้าเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วอีกด้วย 

และที่แน่ๆ เลยก็คือ ผ้าเตี่ยวอินเดียรูปแบบนี้ถูกนำไปประยุกต์ดัดแปลงเป็นผ้าอ้อมเด็ก รวมถึงผู้ผลิตชุดชั้นในชายสัญชาติกรีกระดับพรีเมียมอย่าง Modus Vivendi ก็ได้นำเอาไปผลิตให้เป็นเรื่องเป็นราวกันเลย 

Detail about langot-langota-langoti

เราจะเห็นการสวมใส่ผ้าเตี่ยวแบบนี้ได้ในลานฝึกอัครา/อาคาร (Akhara, ฮินดี : अखाड़ा) ทั้งมวยปล้ำกุศตี ศิลปะป้องกันตัวอินเดียใต้อย่าง กลารีพายัทฑุ (Kalaripayattu, ฮินดี : कलरीपायट्टु, ทมิฬ/มาลายัม : കളരിപ്പയറ്റ്) พบบ่อยๆ เฉพาะช่วงฝึกซ้อม ส่วนช่วงที่จำเป็นต้องใส่ลงแข่งขันมวยปล้ำในรายการใด ๆ อาจจะต้องสวมกางเกงชั้นใน (janghia, ฮินดี : जांघिया) ทับลงไปอีกชั้น แล้วบางครั้งหากผลัดกันสวมใส่ อาจจะต้องมีพิธีไหว้ขอขมาเล็กน้อย เผื่อผ้าเตี่ยวที่รับเอามาใช้นี้อาจสวมใส่โดยครูฝึกสอนระดับอาวุโสมาก่อน นอกจากนี้ยังนำไปสวมใส่แทนเกาปินา สวมใส่ลงอาบน้ำที่ริมแม่น้ำก็ดี แต่จำกัดเฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่จะสวมใส่ได้ 





ส่วนรายละเอียดรวมถึงวิธีการสวมใส่คร่าว ๆ จะเป็นดังรูป



How to tie langot-langota-langoti, step 01-05 [full]

ถ้าตามไม่ทันยังมีแบบละเอียดตามขั้นตอน (สวมใส่จริงโดยผู้เขียน)

ขั้นตอนที่ 1 จับตำแหน่งให้ตรง

ขั้นตอนที่ 2 จับชายผ้าลอดใต้ระหว่างต้นขาไปข้างหน้า เหน็บค้างไว้ ดึงแถบผ้าปิดเครื่องเพศให้มิดชิด 

ขั้นตอนที่ 3 ดึงสายคาดรัดเอวให้ตึง ถ้ายาวเกินพอดีให้พันรอบเอว / ลดระยะเชือกผูกเอวให้สั้นลง

ขั้นตอนที่ 4 ผูกเชือกคาดเอวให้เรียบร้อย

ขั้นตอนที่ 5 ดึงชายผ้าให้ตึงกระชับ และแน่นหนาพอ แล้วเตรียมรวบชายผ้าที่เหลือพร้อมตวัดกลับ

ขั้นตอนที่ 6 จับชายผ้าที่ดึงกระชับแล้ว ลอดใต้ระหว่างต้นขากลับมาด้านหลัง

ขั้นตอนที่ 7 ดึงให้ตึง แล้วจับชายผ้าที่เหลือยัดเข้าไปในร่องสะโพก

ขั้นตอนที่ 8 จัดทรงเล็กน้อยเป็นอันเสร็จ

รูปแบบการนุ่งผ้าเตี่ยวในลักษณะนี้จะมีความคล้ายคลึงกับทางกรีก-โรมัน นั่นคือ subligaculum (ซูบริกาคูลูม) แต่ชายผ้าจะไม่ได้เหลือพอที่จะซุกเข้าไปในร่องสะโพกมากนัก แต่จะจบขั้นตอนการนุ่งด้วยการคาดผ้ารัดเอวอีกชิ้น หรือ เข็มขัดหนังสัตว์เพื่อให้แน่นหนาพอดี แล้วปล่อยชายผ้าเอาไว้อย่างนั้นเลย


ผ้าเตี่ยวแบบพิเศษสำหรับนักสู้กลารีพายัทฑุ (Kacha kettal)






กฉา เกตตละ (ฮินดี : कच्चा, ทมิฬ/มาลายัม : കച്ച കെട്ട് / കച്ച കെട്ടൽ, ญี่ปุ่น : カッチャ) ผ้าเตี่ยวแบบผืนเดียวที่มีความยาวเริ่มต้นที่ 5-6 ฟุต (1.52-1.82 เมตร) กว้าง 1 ฟุต (30.4 เซนติเมตร โดยประมาณ) หรือยาวกว่านั้น ลักษณะการนุ่งจะอ้อมไปอ้อมมาราวๆ 3-4 รอบ โดยผูกผ้าไว้กับเสา หรือ มีผู้ช่วยถือให้จนหมดระยะผ้า ต่างจาก Mawashi ของฝั่งญี่ปุ่น คือ น้ำหนักเบากว่า คล่องตัวกว่า ถึงแม้วิธีการจะมีลักษณะคล้ายกัน จุดประสงค์ของการนุ่งในลักษณะนี้คือ ทำให้แน่นกระชับมั่นคงในการออกกระบวนท่าเป็นหลัก


-------------------

แหล่งข้อมูลอ้างอิง


Kaupinam (Wikipedia)
Kachakettal (Kerala tourism)
Siddhartha Joshi, How to tie a traditional Indian langot part 1 part 2 part 3 (THE WANDERER)
จิระนันท์ พิตรปรีชา, หนุมานอัครา วิชามวยปล้ำโบราณของอินเดีย (THE STANDARD, Line Today)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น