วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2564

[รวมมิตรเฉพาะกิจ] ตามรอยตำนานผ้าเตี่ยว ตอนจบ (Lore of loincloth 4)

ห่ะบัตยูวววว....


เนื้อหาของเอนทรีนี้เป็นการนำเอาเรื่องราวของ "เครื่องแต่งกายขั้นพื้นฐาน" กลับมาทำใหม่อีกครั้งหลังจากที่เคยเขียนไว้ใน Exteen เมื่อปี 2553 อาจจะมีส่วนใดส่วนหนึ่งที่ดูละเอียดอ่อน รวมถึงภาพประกอบที่นำมาใช้ แนะนำว่าดูเป็นความรู้พร้อมกับครอบครัว หรือผู้เชี่ยวชาญไปก่อนก็ได้ หรือถ้าอายุเยอะแล้วก็ไม่ว่ากัน

จากตอนที่แล้วกับเอนทรี [รวมมิตรเฉพาะกิจ] ตามรอยตำนานผ้าเตี่ยว ตอนที่สาม (Lore of loincloth 3) เป็นการนำมาแปล เรียบเรียง แล้วเขียนเนื้อหาขึ้นมาใหม่ตามที่เข้าใจ ตามประสบการณ์ที่มี ซึ่งนอกเหนือจากที่ได้กล่าวไปแล้วทั้ง บาแฮก (bahag) ฟุนโดชิ (fundoshi) และเกาปินา (kaupina-langot) ยังมีผ้าเตี่ยวรูปแบบอื่น ๆ ที่ไปหาข้อมูลมาเพิ่มที่หลัง และมาพร้อมกับเรื่องของผ้าเตี่ยวสัญชาติไทยที่ซ่อนอยู่โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน รวมไปถึงผ้าเตี่ยวพิเศษแบบแปลก ๆ ที่อาจจะต้องแยกไปลงในอีกเว็บหนึ่ง เนืองจากภาพประกอบมีความละเอียดอ่อนมากกว่าปกติ ชนิดที่ว่าต้องไล่เก็บตกให้ครบแล้วลุยทำเนื้อหาอื่นๆ ต่อไป

หมายเหตุ : หัวข้อไหนที่ไม่มีรูปภาพประกอบ ก็ต้องขออภัยที่หาแหล่งต้นฉบับอ้างอิงไม่ได้ หรือถ้าจัดหามาได้แล้ว จะรีบดำเนินการเพิ่มเติมให้ในภายหลัง

-------------------

จากเปอร์เซียสู่สยามประเทศ กับ "ผ้าขาวม้า" 


[Anime] Complete wearing of Siamese-style kamarband

ผ้าขาวม้าเป็นผ้านุ่งอเนกประสงค์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากการค้าขายระหว่างประเทศกับชาติอาหรับ-เปอร์เซีย-อินเดียยุคโมกุล แต่เดิมถูกใช้เป็นผ้าเคียนเอวรัดรอบเอว โดยเพี้ยนจากคำเรียกที่ผสมระหว่าง Kamar ที่แปลว่า เอว และ band ที่แปลว่า โอบรัด จนได้มาเป็นคำประสมที่เรียกติด ๆ กัน (เปอร์เซีย : کمربند, ฮินดี : कमरबंद) ส่วนใหญ่แล้ว Kamarband เป็นเพียงผ้าคาดรอบเอวที่พ่อค้า ผู้มีฐานะดี ๆ ใช้เป็นประจำ นิยมใช้ร่วมกับเครื่องแต่งกายอื่นๆ และอาจหมายถึงเครื่องเครื่องประดับรอบเอวของเพศสตรีด้วย 

Detail about kamarband (ผ้าขาวม้า)

Detail about kamarband (ผ้าขาวม้า)

Detail about kamarband (ผ้าขาวม้า)

แต่ผู้คนในสยามประเทศยุคสมัยอยุธยา รวมถึงภูมิภาคสุวรรณภูมิก็รับเอามา และเรียกติดปากจนกลายเป็น "ผ้าขาวม้า" แถมอยู่ดี ๆ ก็เปลี่ยนสภาพดัดแปลงจากผ้าคาดเอว มาเป็นผ้าผืนยาวสีย้อมมือเรียบๆ และลายตารางที่มีสีสันสวยงาม ขนาดความกว้าง 70-90 เซนติเมตร ยาว 1.75-2.0 เมตร (หรือมากกว่า) แน่นอนว่าทำจากผ้าฝ้าย/ใยสังเคราะห์ นำมาใช้งานได้สารพัดนอกจากเป็นเครื่องนุ่งห่ม และรวมไปถึงผ้าเตี่ยว

Detail about kamarband (ผ้าขาวม้า)

ลักษณะการสวมใส่นั้นแล้วแต่ว่าจะแปลงให้อยู่รูปแบบใด โดยเริ่มจากการนุ่งให้อยู่ในลักษณะโสร่ง จับชายผ้าส่วนที่เหลือรวบแล้วถกขึ้น ชายผ้าที่รวบเอาไว้จะสามารถลอดระหว่างต้นขาได้พอดี จับส่วนที่เหลือสอดเข้าร่องสะโพก จัดทรงให้แน่นหนาก็เป็นอันเสร็จ 

หรือ ดัดแปลงให้เหมือนกับโรคุชาคุ ฟุนโดชิ ในยุคเดียวกันก็ยังได้ แต่ต้องใช้ผ้าขาวม้าที่มีความยาวมากกว่า 1.5 เมตร ขึ้นไป (สวมใส่จริงโดยผู้เขียน)






ผ้าเตี่ยวรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมา

- เพอริโซมา (Perizoma, กรีก : περίζωμα) ผ้าเตี่ยวที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมไมนอส ปรากฏการสวมใส่ในเหตุการณ์ "มรรคาศักดิ์สิทธิ์" (Stations of The Cross) ของพระเยซูคริสต์เจ้า ตั้งแต่จุดที่ 10 จนถึงจุดที่ 13 

Detail about perizoma

- ตะปิ้ง, จะปิ้ง, จับปิ้ง (Araimudi-Araimuti, ทมิฬ : அரைமுடி) เครื่องประดับปกปิดเฉพาะเครื่องเพศด้านหน้าที่มีต้นกำเนิดจากอินเดียใต้ ปกติทำจากโลหะเงิน รูปทรงใบไม้ รูปหัวใจ หรือรูปทรงแผ่นปิดแบบอื่น ๆ และในสยามประเทศก็ได้รับมาเช่นกัน แต่จะถูกดัดแปลงไปเป็นแบบถักทอ สานให้เป็นแผ่นถี่ ๆ ทำให้มีน้ำหนักเบา ส่วนใหญ่เด็กผู้หญิงครอบครัวฐานะดี อายุราว ๆ 3-4 ปี จะได้สวมใส่มากกว่า

- โกเตกา (Koteka) [**] อุปกรณ์สวมครอบเฉพาะเครื่องเพศฝ่ายชายของชนเผ่าในปาปัวนิวกินี (และ นิวกินีตะวันตก ที่อยู่ฝั่งอินโดนิเซีย) วัสดุส่วนใหญ่ได้จากการนำผักผลไม้ที่ออกเป็นฝัก/แฟง/แตง/บวบ (gourd) ทรงเรียวยาว โดยคว้านเอาไส้ในออก แล้วนำไปตากให้แห้ง เคลือบด้วยขี้ผิ้งก่อนนำมาสวมใส่ ซึ่งมีการจำแนกรูปแบบการสวมใส่คร่าว ๆ คือ แบบสั้นธรรมดา เหมาะสำหรับใส่ออกไปทำงานในชีวิตประจำวัน กับแบบยาวที่มีการตกแต่งลวดลาย จะเหมาะสำหรับใส่เพื่อเข้าร่วมพิธีกรรม-เทศกาลประจำเผ่านั้น ๆ เลย


แล้วอุปกรณ์สวมครอบเครื่องเพศชายแบบนี้ก็ไม่ได้มีแค่ในปาปัวนิวกินีเท่านั้น ยังมีอีก 2 ชนเผ่า คือ ชนเผ่าบนเกาะมาลากุลา (Malakula Island) กับชนเผ่า Fanla บนเกาะอัมบริม (Ambrym Island) ในประเทศวานูวาตู (Republic of Vanuatu) ที่สวมใส่อุปกรณ์ครอบเครื่องเพศดังกล่าวในลักษณะเดียวกัน แต่มีชื่อว่า "นัมบา" (namba) และ "นูบัง" (nubang)

- คอดพีซ (Codpiece) [**] อุปกรณ์สวมครอบเครื่องเพศในยุคเรอแนซ็องส์ สร้างจากโลหะหล่อขึ้นรูป หรือ นำแผ่นโลหะตีขึ้นให้เป็นรูปทรงโอบรับพอดี เป็นต้นกำเนิดของกระจับสำหรับนักกีฬา (supporter) กางเกงชั้นในแนวกระจับ (jockstrap) ปลอกสวม และกางเกงชั้นในแนวซี-สตริงในปัจจุบัน

Detail about koteka, codpiece and araimudi

- ไคโนเดสเม (Kynodesme, กรีก : κυνοδέσμη) [**] การผูกตรึงเครื่องเพศให้อยู่กับที่ด้วยเส้นเชือกคาดเอว นิยมในกลุ่มนักกีฬาชายชาวกรีก ช่วงที่มีการแข่งขันโอลิมปิกยุคแรก ๆ และเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมการหลั่งขณะมีเพศสัมพันธ์ได้เหมือนกับถุงยางอนามัยในปัจจุบันด้วย

[Anime] Complete wearing of Subligaculum


Detail about Subligaculum

Detail about Subligaculum and basic wearing.

ซูบริกาคูลูม (Subligaculum) ผ้าเตี่ยวชนิดผืนเดียวตัดเย็บขึ้นรูปในยุคกรีก-โรมัน นิยมสวมใส่ในกลุ่มนักสู้ นักรบ และผู้หญิงนั้นก็สามารถนำไปสวมใส่เป็นชุดชั้นใน ร่วมกับผ้ารัดหน้าอก สโตรเฟียม (Strophium) ได้เช่นเดียวกัน

- ดู๋ บี กุ่น (Dubi Kun / dú bí kūn, จีน : 犊鼻裈) ผ้าเตี่ยวชนิดผืนเดียวตัดเย็บขึ้นรูปในยุคจีนโบราณ เมื่อ 5,000 ปีก่อน ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันกับกางเกงขาสั้น แต่เว้าช่วงขาด้านนอกให้มีความสะดวกต่อการขยับตัว ซึ่งก็มีสวมใส่เฉพาะฝั่งผู้ชายเท่านั้น

- เก ดั่ง โกะ (Gae Dang-Go, ฮันกิล : 개당고) ผ้าเตี่ยวสำหรับผู้ชายในยุคสมัยโชซอน ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันกับกางเกงขาสั้นในแบบเดียวกันกับ Dubi Kun เพราะได้รับรูปแบบการแต่งกายมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ในยุคโบราณมาด้วย

[Anime] Complete wearing of Dari Sokgot (다리속곳) and Heoritti (허리띠)


Detail about Dari Sokgot (다리속곳) and Heoritti (허리띠).

- ดาริ ซอกกอต (Dari Sokgot, ฮันกิล : 다리속곳) ผ้าเตี่ยวสำหรับผู้หญิงในยุคสมัยโชซอน สวมใส่คู่กับผ้ารัดหน้าอก ฮิโอริตติ (Heoritti, ฮันกิล : 허리띠) เป็นหนึ่งในเซ็ทชุดชั้นในที่ต้องสวมใส่ให้ครบก่อนสวมเครื่องแต่งกายอื่น ๆ ทับเป็นชั้น ๆ

[**] : ดูเวอร์ชันเต็ม (เนื้อหาละเอียดอ่อนฉบับ underground blogspot) ที่ Lore of loincloth special series

<<ดูตอนก่อนหน้า

-------------------

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม 

Cummerband (Wikipedia)
Perizoma (Wikipedia)
Koteka / Namba (Wikipedia)
Codpiece (Wikipedia)
Araimudi (Wikipedia)
Kynodesme (Wikipedia)
Subligaculum (Wikipedia)
Sokgot (Wikipedia) 
Hanbok Heros
The History of traditional Chinese pants (New Hanfu)
สุทธิดา อุ่นจิตร, การเดินทางของผ้าคาดเอวจากเปอร์เซียสู่สยามของนักสะสมผ้าขาวม้า (The Cloud)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น