วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2562

[มะพร้าวห้าวขายสวน]คุยเพื่องเรื่อง Storage device (อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล)

ห่ะบัตยูววว.....


บทความนี้เป็นบทความที่น่าสนใจ น่าเข้าไปชมเพิ่มพูนความรู้ สำหรับมือใหม่หัดรู้จักกับคอมพิวเตอร์ และไม่ควรพลาด ที่ควรจะรู้จักอุปกรณ์ที่ใช้ "จัดเก็บข้อมูลต่างๆ" สารพัด ทั้งข้อมูลที่จะใช้ในระบบเพื่อทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้ถูกต้องเหมาะสม ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ รวมไปถึงข้อมูลสื่อต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการแสดงผลด้วย

และในเนื้อหานี้อาจจะย้อนกลับไปรู้จักกับอุปกรณ์สื่อเก็บข้อมูลแบบต่างๆ ตั้งแต่รุ่นที่มีใช้งานในปัจจุบัน ยังพอมีใช้งานอยู่ เลิกใช้งานไปแล้ว และรูปแบบการเชื่อมต่อที่ผ่านๆ มา ชนิดที่ว่ายังดีกว่าจะปล่อยผ่านให้หายไปตามกาลเวลา แล้วคนรุ่นใหม่ๆ ก็เริ่มไม่รู้จัก/ลืมอุปกรณ์และการเชื่อมต่อรุ่นเก่ารุ่นบุกเบิกนั้นไป ซึ่งนั่นคือเป้าหมายของเรา ณ ขณะนี้

----------------

สื่อจัดเก็บข้อมูลคืออะไร...และมีอะไรบ้าง?


จัดเป็นอุปกรณ์ส่วนควบที่ต่อเข้ากับ Mainboard เพื่อให้อุปกรณ์หลักนั้นสามารถดึงเอาชุดข้อมูลต่างๆ มาใช้งานใช้ประมวลผลได้ และเมื่อเลิกใช้งานก็สามารถบันทึก/เปลี่ยนแปลง ตามต้องการ รวมถึงสามารถติดตั้ง/ถอดถอนตามความสะดวกของผู้ใช้งาน ในภาพรวมนั้น "สื่อจัดเก็บข้อมูล" นั้นแบ่งออกเป็นแขนงต่างๆ ได้มากมาย แต่หลักๆ เราจะเน้นอยู่ 2 อย่างคือ สื่อจัดเก็บข้อมูลชนิดอยู่กับที่ (fixed storage device) และสื่อจัดเก็บข้อมูลชนิดถอดออกได้ (removable storage device)


- สื่อจัดเก็บข้อมูลชนิดอยู่กับที่ (fixed storage device) คืออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่ต้องเชื่อมต่อเข้ากับ Mainboard ตลอดเวลาเพื่อให้ระบบทำงานครบวงจร ซึ่งในที่นี้คือ Harddisk drive และ Solid-state drive โดยต้องติดตั้งไว้ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ (internal) และตรึงให้อยู่กับที่ด้วยสักรูเพื่อความมั่นคงแข็งแรง

3.5 Floppy drive 
3.5 Floppy drive 
3.5 Floppy disk 

 Optical drive (CD-DVD)
Optical drive (CD-DVD)

- สื่อจัดเก็บข้อมูลชนิดถอดออกได้ (removable storage device) คืออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่สามารถเคลื่อนย้ายไปต่อกับคอมพิวเตอร์เครื่องใดก็ได้ โดยการเชื่อมต่อเข้ากับสายนำสัญญาณชนิดต่างๆ หรือสอดใส่อุปกรณ์บันทึกข้อมูลเฉพาะเข้ากับตัวอุปกรณ์ส่วนควบหลัก เพื่อให้เปิดใช้งานได้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการโอนถ่ายข้อมูลจากเครื่องต้นทาง ไปยังเครื่องปลายทาง โดยอุปกรณ์สื่อที่กล่าวมานี้ก็คือ แผ่น Floppy, แผ่น CD, แผ่น DVD แผ่น Blu-ray, แผ่นบันทึกข้อมูลแบบพิเศษ(ZIP-drive) ฮาร์ดดิสก์แบบพกพา(removable harddisk) และรวมถึง หน่วยความจำแบบแฟลช (flash memory drive) ที่สามารถเขียน/ลบชุดข้อมูลซ้ำๆ ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

ชนิดการเชื่อมต่อระหว่าง Mainboard กับสื่อจัดเก็บข้อมูลหลักๆ มีอะไรบ้าง?



IDE (Integrated Drive Electronics หรือ Parallel ATA) พัฒนาโดย WD (Western Digital) ร่วมกับ Compaq จัดเป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อที่พื้นฐานที่สุด และเคยนิยมใช้กันมามาก เนื่องจากการเชื่อมต่อชนิดนี้เป็นการรับส่งชุดข้อมูลระดับ 16 บิตแบบขนาน (Parallel) ไปตามสายเชื่อมต่อหลายๆ เส้นในแผงเดียวกัน มีความเร็วในการรับ/ส่งข้อมูลตั้งแต่ 8.3 MB/s , 33 MB/s, 66 MB/s, 100 MB/s และสูงสุด 133 MB/s โดยอุปกรณ์ตั้งแต่ floppy disk จะใช้สายแบบ 34 เส้น ส่วน Harddisk และ CD-DVD optical disk จะใช้สายแบบ 40-80 เส้น พร้อมหัวเชื่อมต่อไฟแบบ molex



ข้อด้อยของการเชื่อมต่อชนิดนี้คือ รองรับการพ่วงอุปกรณ์ได้เพียง 2 ตัว และต้องจัดลำดับความสำคัญว่าใครคืออุปกรณ์ตัวหลัก (master) ใครคืออุปกรณ์ตัวรอง (slave) หากเชื่อมต่อด้วยสายเส้นเดียวกันต่อช่อง และถูกควบคุมด้วยชิบ South bridge ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในแขนงของอุปกรณ์ความเร็วต่ำ

SCSI (Small Computer System Interface) พัฒนาขึ้นโดย ANSI (America Nationnal Standard Institute) จัดเป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อที่พัฒนาเพื่อให้นำมาใช้กับระบบคอมพิวเตอร์ภายในองค์กร โดยสามารถต่ออุปกรณ์ที่ต้องการความเร็วสูงชนิดต่างๆ จำนวนไม่เกิน 30 ตัวได้ด้วยสายนำสัญญาณเพียงเส้นเดียว โดยมีความเร็วในการรับ/ส่งข้อมูลอยู่ที่ 320 MB/s (ultra 320) ข้อด้อยของการเชื่อมต่อชนิดนี้คือ ไม่ค่อยเป็นที่นิยมโดยทั่วไปเนื่องจากมีราคาที่แพง และอุปกรณ์รองรับนั้นมีออกมาน้อยเพราะเน้นเฉพาะระบบคอมพิวเตอร์ภายในองค์กรเท่านั้น

SATA (Serial ATA) จัดเป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อในปัจจุบันที่พัฒนาต่อจาก IDE ด้วยระบบการรับ/ส่งข้อมูลแบบใหม่ ที่เปลี่ยนจากการรับส่งชุดข้อมูลระดับ 16 บิตแบบขนาน (Parallel) มาเป็นแบบอนุกรม (Serial) และนำเอาข้อดีบางส่วนของ SCSI มาพัฒนาใช้ด้วย มีความเร็วในการรับ/ส่งข้อมูลตั้งแต่ 150 MB/s (SATA), 300 MB/s (SATA2), 600 MB/s (SATA3) และ 1.97 GB/s ขึ้นอยู่กับมาตรฐานที่มีรองรับอยู่ อีกทั้งยังรองรับอุปกรณ์ที่ต้องการความเร็วในการรับ/ส่งข้อมูลที่สูงขึ้นตามไปด้วย



ข้อด้อยของการเชื่อมต่อชนิดนี้คือ เมื่อเปลี่ยนมาตรฐานการเชื่อมต่อมาเป็น SATA แล้ว ทุกอย่างก็เปลี่ยนหมดตั้งแต่สายส่งข้อมูล สายไฟฟ้าสำหรับจ่ายเข้าอุปกรณ์ก็ไม่ได้ใช้แบบ molex อีกต่อไป อาจจะต้องเสียเวลาแปลงหัวต่อเพื่อให้สามารถใช้ได้กับอุปกรณ์รุ่นเก่าๆ บางรุ่นด้วย อีกทั้งมาตรฐานนี้ยังแยกย่อยลงไปอีก ทำให้เกิดมาตรฐานใหม่ๆ ซึ่งมีผลทำให้อุปกรณ์บางตัวใช้ร่วมกันไม่ได้ เช่น จำพวก mSATA, M.2, SATA express, eSATA

สื่อจัดเก็บข้อมูลชนิดอื่นๆ มีอะไรบ้าง?


- ZIP drive สื่อจัดเก็บข้อมูลชนิดถอดออกได้ ที่พัฒนาจาก Floppy disc ซึ่งมีความจุมากกว่า 1.44 (1.32) MB ขึ้นไป ในภายหลังไม่ได้รับความนิยมเพราะความยุ่งยากในการใช้งาน และระบบปฏิบัติการยังรองรับได้ไม่เต็มที่ หรือมีเทคโนโลยีที่ใหม่กว่านั้น


- Flash drive สื่อจัดเก็บข้อมูลชนิดถอดออกได้ ที่พัฒนาจากการทำงานของหน่วยความจำ เพียงแต่ทำให้เมื่อเขียนข้อมูลลงไปแล้วสามารถเก็บไว้ได้นานๆ โดยไม่ต้องจ่ายไฟเลี้ยงตลอดเวลา สามารถลบและเขียนทับข้อมูลได้หลายๆ ครั้ง และยังพกพาได้สะดวก ตามที่กล่าวมาข้างต้น


- Solid-state drive สื่อจัดเก็บข้อมูลขนิดใหม่ที่จะมาทดแทน Harddisk เนื่องจากเข้าถึงข้อมูลได้เร็วกว่า มีความทนทานสูง และใช้พลังงานน้อย เป็นขั้นกว่าของการนำเอา Flash drive มาใช้เป็นสื่อจัดเก็บข้อมูลชนิดอยู่กับที่ความเร็วสูง แต่ช่วงยุคแรกๆ ยังมีราคาที่แพงเอาเรื่องเลยทีเดียว

- mSATA, M.2 ขั้นกว่าของการพัฒนาให้ solid-state drive มีขนาดที่เล็กลง เข้าถึงข้อมูลได้เร็ว และเชื่อมต่อตรงกับ mainboard โดยไม่ต้องใช้สาย SATA และสายไฟจาก power supply เพราะอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ มีมาให้พร้อมใช้งานได้เลย แต่ยังมีข้อด้อยคือยังมีความร้อนจากการใช้งาน ต้องจัดหาอุปกรณ์ระบายความร้อนมาติดตั้งเพิ่มเติมอีกชิ้น

- Blu-ray disk สื่อจัดเก็บข้อมูลชนิดถอดออกได้ ที่พัฒนาจากการเพิ่มความจุให้มากกว่าปกติในแผ่นเดียว (25 GB) โดยใช้ลำแสงสีฟ้าในการอ่าน/เขียนข้อมูลลงไป พบมากในวงการภาพยนตร์ และวงการเกมคอนโซลซึ่งยังมีการใช้งานอยู่

----------------

ปัญหาและการแก้ไข


- ระบบแจ้งเตือนข้อผิดพลาด device not found (ไม่พบอุปกรณ์) ก่อนเริ่มโหลดระบบปฏิบัติการ ตรวจสอบความแน่นหนาของสายเชื่อมต่อทั้งหมดว่าเกิดการหลวมหรือไม่ ปกติจะมีแค่สายนำสัญญาณ กับสายจาก power supply เท่านั้น หรือ เข้าไปตรวจสอบในรายการโหลด BIOS / UEFI ว่ามีรายการอุปกรณ์ตัวนี้อยู่หรือไม่ แต่ถ้าอุปกรณ์ของคุณเชื่อมต่อแน่นหนาดีแล้ว ใหกดปุ่มใดๆ เพื่อยืนยันดำเนินการต่อ เพราะอาจเกิดจากลำดับการบูตระบบเท่านั้น

- ระบบแจ้งเตือนข้อผิดพลาด low disk space (พื้นที่ว่างเหลือน้อย) ให้ใช้โปรแกรมล้างทำความสะอาดแบบใดก็ได้ตรวจสอบหา และลบไฟล์ที่ไม่ได้ใช้งาน (ไฟล์ขยะ, ไฟล์ชั่วคราว ที่ระบบสร้างขึ้นมา) หรือหากผู้ใช้งานนั้นเก็บข้อมูลเอาไว้ แล้วตรวจสอบภายหลังว่าหมดความจำเป็นแล้ว คุณสามารถย้ายมันไปเก็บไว้ในสื่อจัดเก็บข้อมูลอื่นๆ ได้เลย หรือจะลบทิ้ง แล้วแต่สะดวก

- ระบบปฏิบัติการมองไม่เห็นอุปกรณ์ในรายการทั่วไป ถึงแม้ว่าจะถูกเสียบติดตั้ง และมีอยู่ในรายการอุปกรณ์ของระบบอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะพบอยู่ใน HDD /SSD ซึ่งระบบยังไม่รู้จักรูปแบบการจัดการไฟล์ หรือ พาร์ติชัน (partition) ถ้าหาอุปกรณ์ดังกล่าวนี้เจอใน device mamager ล่ะก็ คุณต้องไปสร้าง partition เพื่อให้ระบบมองเห็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลให้เรียบร้อยเสียก่อน เช่น สร้างเป็น FAT, FAT32 หรือไม่ก็ต้องเป็น NTFS ด้วยโปรแกรมจัดการเฉพาะ

- ใช้เครื่องไปสักพักแล้วเกิดอาการค้าง หรือโหลดแล้วค้างไปเลย แต่อุปกรณ์ชิ้นอื่นๆ ทำงานได้ตามปกติ เกิดจากอาการจุดเสีย (bad sector) ซึ่งพบมากใน harddisk แบบจานหมุน ลักษณะแบบนี้มีผลมาจากการใช้งานมานานโดยไม่ได้ตรวจสอบ-ทดสอบสมรรถนะ อาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อตัวอุปกรณ์ อาจเกิดจากการกระแทกอย่างรุนแรง อุปกรณ์หยุดทำงานกระทันหันจากปัญหากระแสไฟฟ้าดับอยู่บ่อยๆ อาการแบบนี้ให้รีบกู้-สำรองข้อมูลไปใส่ในไดรฟ์อื่น หรือแบบเบาสุดหน่อย มักเกิดจากความผิดพลาดของระบบรูปแบบการจัดการไฟล์ สามารถล้างได้ด้วยโปรแกรมแต่ไม่ได้หายแบบถาวร โดยถอดตัวไดรฟ์ไปต่อกับเครื่องอื่นๆ ที่ยังใช้งานได้ไปก่อน

- ไม่สามารถเปิดสื่อจัดเก็บข้อมูลได้ หรือ เปิดได้ แต่ใช้เวลานาน หลังจากสอดใส่เข้าไปแล้ว พบอยู่ในสื่อจัดเก็บข้อมูลประเภทแผ่น CD, DVD, HD-DVD และ Blu-ray มีจุดที่ต้องตรวจสอบคือ การจัดเก็บสื่อนั้นมีความมิดชิดดีพอหรือไม่ เพราะอาจมีฝุ่น คราบสกปรกต่างๆ ไปติดค้างอยู่ ให้ทำความสะอาดหน้าแผ่น ตรวจสอบรอยขีดข่วน แล้วใส่เข้าไปอีกครั้ง อีกส่วนหนึ่งคือ หัวอ่านของอุปกรณ์นั้นมีคราบฝุ่น คราบสกปรกอยู่เหมือนกัน ให้ทำความสะอาดโดยใส่ชุดล้างหัวอ่านเข้าไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น