วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2562

[รวมมิตรเฉพาะกิจ] รวมศัพท์ในวงการทางราง (railway vocabulary)

ห่ะบัตยูวววว...ปู้นปู้นนนนนน


เอนทรีเนื้อหาทั่วๆ ไปฉบับนี้จะเป็นการรวบรวมเอา ศัพท์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะเป็นหลัก มาอธิบายเป็นภาษาที่เราอ่านเข้าใจง่ายตามที่เราทราบ (หลัก, ภาษาไทย) คราวนี้จะเป็นมุมมองของ "รถไฟ" กับแวดวงระบบขนส่งทางราง พร้อมกับความหมายที่มีความเกี่ยวข้องว่า ชื่อเรียกทั่วๆ ไปนั้นมันหมายถึงอะไรกันแน่ ไม่ว่าจะเป็น ชนิดตัวรถ ประเภทขบวนโดยสาร/ขบวนสินค้า ระบบอาณัติสัญญาณ และรวมไปถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางรางอีกด้วย

เนื้อหาศัพท์เฉพาะนี้ยังสามารถหาอ่านค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากไซต์อื่นๆ หรือในเพจเฟซบุ๊กที่พูดคุยถึงเรื่องนี้ หาเจอได้ไม่ยากและน่าสนใจเช่นกัน

หมวดตัวรถและล้อเลื่อน


Davenport 500

Locomotive (โลโคโมทีฟ) : ชื่อเรียกรวมรถหัวจักรประเภทต่างๆ ที่มีระบบขับเคลื่อน และมีพละกำลังมหาศาล เพื่อทำหน้าที่ในการดึง/ผลักตู้รถไฟชนิดต่างๆ ที่ต่อกันเป็นขบวน ให้สามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางได้

Hanomag steam locomotive, Nakhon Ratchasima station.

Steam locomotive (สติม โลโคโมทีฟ) : รถหัวจักรที่ขับเคลื่อนด้วยระบบแรงดันไอน้ำ หรือชื่อเรียกสั้นๆ คือ รถจักรไอน้ำ

CSR (CRRC) Qishuyan U20 SDA3

Diesel electric locomotive (ดีเซล อิเล็คทริก โลโคโมทีฟ) : รถหัวจักรที่ขับเคลื่อนด้วยระบบเครื่องยนต์ดีเซล โดยต่อเข้ากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า(generator) เพื่อจ่ายให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าภายในตัวโบกี้ของรถ หรือชื่อเรียกสั้นๆ คือ รถจักรดีเซลไฟฟ้า

Shunter-Henschel (HAS), DHC700C-2

Diesel hydraulic locomotive (ดีเซล ไฮดรอลิก โลโคโมทีฟ) : รถหัวจักรที่ขับเคลื่อนด้วยระบบเครื่องยนต์ดีเซล โดยต่อร่วมกับชุดเพลาขับเคลื่อนไปยังตัวโบกี้ของรถ หรือชื่อเรียกสั้นๆ คือ รถจักรดีเซลไฮดรอลิก

Daewoo DRH-11 APD20 diesel railcar

Rail car, Motor rail (เรลคาร์, มอเตอร์ เรล) : ชื่อเรียกรวมชุดขบวนรถโดยสารประเภทต่างๆ ซึ่งมีระบบขับเคลื่อนในตัว และบางคันมีระบบปรับอากาศภายในรถติดมาด้วย รวมไปถึง รถยนต์ที่ถูกดัดแปลงจากเดิมที่วิ่งบนถนนให้สามารถวิ่งบนรางได้ หรือ ใช้ได้ทั้งสองอย่าง

Bogie First Class Day & Night Coach(BNF.), JR West (HokutoSei)

Bogie Third Class Carriage(BTC.)

Passenger car (แพสเซนเจอร์ คาร์) : ชื่อเรียกตัวรถที่ไม่มีระบบขับเคลื่อนในตัว ต้องอาศัยพ่วงเป็นขบวนไปกับหัวรถจักร ในที่นี้ใช้สำหรับรับ-ส่งผู้โดยสาร สามารถขนส่งสินค้าขนาดเล็กๆ ได้ถ้าหากมีหรือรองรับ บางชนิดมีระบบปรับอากาศติดมาด้วย

Bogie Container Flat Wagon (BCF.)

Covered Goods Wagon (C.G.)


Freight car (เฟลก คาร์) : ชื่อเรียกตัวรถที่ไม่มีระบบขับเคลื่อนในตัว ต้องอาศัยพ่วงเป็นขบวนไปกับหัวรถจักร ในที่นี้ใช้สำหรับขนส่งพัสดุสินค้าล้วนๆ มีหลากหลายรูปแบบโดยขึ้นอยู่กับลักษณะสินค้าที่นำมาบรรทุก


Bogie (โบกี้) : ส่วนที่รองรับโครงสร้างตัวรถไฟทั้งคัน และ ใช้ในการขับเคลื่อน ประกอบด้วยล้อ(wheel) เพลา(shaft / axle) ระบบห้ามล้อ(brake) ระบบช่วงล่าง(suspension) ระบบส่งกำลัง(transmission) ทั้งหมดรวมกันเป็นยูนิตเดียว มีหลากหลายมาตรฐานให้จำแนกตามลักษณะการใช้งาน ภาษาชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่า "แคร่"

Rolling stock (โรลลิ่ง สตอค) : ชื่อเรียกสั้นๆ คือ ล้อเลื่อน, ลากเลื่อน เป็นแขนงการเรียกรวมอุตสาหกรรมทางรางโดยเน้นการผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับรถไฟเป็นหลัก เช่น อะไหล่ ตัวรถจักร ตัวรถพ่วงเพื่อการโดยสาร/ขนส่งสินค้า รวมไปถึงชุดขบวนรถเฉพาะทาง

Siemens Desiro-Inspiro, EMU-A Bangkok Skytrain.


EMU, Electric multiple unit (อิเล็คทริก มัลติพลาย ยูนิต หรือ อีเอ็มยู) : ชุดขบวนรถโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า ซึ่งจะครอบคลุมถึง รถไฟตามระบบขนส่งมวลชนภายในเมือง และรถไฟความเร็วสูง

[EMU] 3rd rail (เธริด เรล) : ระบบการจ่ายไฟฟ้าของขบวนรถโดยสาร แบบรับกระแสไฟฟ้าจากรางที่ 3
[EMU] Pantograph (แพนโธกราฟ) : ระบบการจ่ายไฟฟ้าของขบวนรถโดยสาร แบบรับกระแสไฟฟ้าจากชุดแหนบ(สาลี่)ด้านบนจากตัวรถ หรือ overhead catenary line

[HST, EMU] Maglev / Linear motor car (แมกเลฟ / ลิเนียร์ มอเตอร์คาร์) : ชื่อย่อของชุดขบวนรถไฟที่ลอยตัวอยู่เหนือขดลวดแม่เหล็กเหนี่ยวนำ (Magnetic levitation) ในลักษณะเชิงเส้น จัดอยู่ในแขนงเดียวกับการพัฒนาชุดขบวนรถไฟที่มีความเร็วสูงมาก

[EMU] Automate People Mover (ออโต้เมท พีเพิล มูพเวอร์) : ชื่อย่อคือ APM ในที่นี้หมายถึง ชุดขบวนรถไฟที่ทำงานโดยอัตโนมัติตามที่ศูนย์ควบคุมกลางได้ตั้งเอาไว้ เหมาะสำหรับให้บริการในระบบรถไฟฟ้าสายสั้น ๆ หรือเครือข่ายย่อย ๆ ของระบบขนส่งมวลชนทางรางภายในเมือง

[HST] Hyperloop (ไฮเปอร์ลูป) : ชุดขบวนรถไฟรูปแบบใหม่ที่วิ่งไปตามท่อสูญญากาศแรงดันต่ำ เป้าหมายคือการลดแรงต้านอากาศในพื้นที่ปิด โดยจัดอยู่ในแขนงเดียวกับการพัฒนาชุดขบวนรถไฟที่มีความเร็วสูงมาก

Tokyu THN, NKF, ATC


DMU, Diesel multiple unit (ดีเซล มัลติพลาย ยูนิต หรือ ดีเอ็มยู) : ชุดขบวนรถโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยระบบเครื่องยนต์ดีเซล สามารถใช้เดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ซึ่งระบบไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง

Plasser & Theurer  PBR-400 R

Plasser & Theurer 09-16 CAT



Maintenance car (เมนเทแนนซ์ คาร์) : ชื่อเรียกตัวรถ/เครื่องจักรที่ใช้สำหรับงานซ่อมบำรุงทางรถไฟ เรียกสั้นๆ ว่า "รถบำรุงทาง" แต่จะแยกย่อยลงไปอีกตามลักษณะและความสามารถของตัวรถ เช่น รถเกลี่ยหิน รถสั่นหิน รถอัดหิน รวมไปถึงรถบรรทุกพร้อมอุปกรณ์ครบมือที่วิ่งบนทางรถไฟได้ด้วย


[Maintenance car] Rail motor trolley (เรล มอเตอร์ โทรลเรย์) : รถบำรุงทางขนาดเล็ก มีลักษณะที่ย่อส่วนจากรถบำรุงทางขนาดปกติอีกที แต่มีความคล่องตัว สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก ภาษาบ้านเราเรียก "รถต๊อก"


[Maintenance car] Rail crane (เรล เครน) : ชุดรถยก หรือ รถปั้นจั่นกลสำหรับงานปฏิบัติการกู้ภัยทางราง สามารถขับเคลื่อนไปมาได้ในตัว แต่บางรุ่นยังต้องอาศัยพ่วงไปกับหัวรถจักรเป็นขบวนช่วยเหลือเหตุฉุกเฉิน

source : ITSUKA JAPAN

Dual-mode vehicle (ดูอัล-โหมด วีฮีเคิล, ญี่ปุ่น : デュアル・モード・ビークル) : หรือชื่อย่อคือ DMV เป็นชุดรถโดยสารดัดแปลงที่มีความสามารถในการเดินทางได้ทั้ง 2 รูปแบบ คือ วิ่งได้ทั้งบนถนนปกติ และสลับไปวิ่งบนราง โดยการปรับเปลี่ยนลักษณะเฉพาะของตัวรถ มีต้นแบบมาจากรถบำรุงทางทั่วไป ปัจจุบันเปิดให้ใช้บริการครั้งแรกที่เมือง Kaiyo จังหวัด Tokushima ประเทศญี่ปุ่น

source : TEKNIQ

[Maintenance car] Norry (นอร์รี, เขมร : ណូរី) : รถบำรุงทางขนาดเล็กที่เคยมีใช้ในการระแตะเพลิงกัมพูชา ซึ่งเพี้ยนมาจากการออกเสียงคำว่า lorry (รถบรรทุก) แต่เป็นสำเนียงฝรั่งเศส ลักษณะเป็นการสร้างจากชิ้นส่วนขับเคลื่อนพื้นฐานเล็ก ๆ น้อย ๆ ติดตั้งเครื่องยนต์เล็กจนกลายเป็นคัน มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการบรรทุกวัสดุบำรุงทางพร้อมกำลังบุคลากรจำนวนหนึ่ง รวมไปถึงการลำเลียงพลทหารในช่วงสงคราม ปัจจุบันถูกกลุ่มชาวบ้านนำมาดัดแปลงเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในเส้นทางพระตะบอง-ปอยเปต โดยจะรู้จักกันในชื่อ "ระแตะเพลิงไม้ไผ่" (bamboo train)

หมวดทางรถไฟ อุปกรณ์ราง และระบบอาณัติสัญญาณ



Track (แทรค) : ชื่อเรียกรวมส่วนประกอบหลักของทางรถไฟ นอกเหนือจากชั้นพื้นทางที่บดอัดมาแล้ว ประกอบด้วย ราง (rail) อุปกรณ์ยึดเหนี่ยว (fastener) หมอน (sleeper) และหินรองชั้นทาง (Ballast)

Gauge (เกจ) : มาตรฐานระยะความกว้างของรางรถไฟ มีหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ แบบระยะแคบ(narrow) แบบหนึ่งเมตร(metre) แบบมาตรฐานยุโรป(EU standard) และแบบระยะกว้าง(broad)


Rail switch, turnouts (เรล สวิตซ์ หรือ เทิร์นเอาท์) : ชุดประแจสำหรับบังคับ และ/หรือ เปลี่ยนทิศทางการเดินรถให้เดินทางไปยังจุดอื่นๆ หรือหลีกให้ขบวนรถออกจากทางวิ่งหลักไปยังทางวิ่งรอง/ทางวิ่งในย่านสับเปลี่ยน ควบคุมได้ทั้งแบบมีเจ้าหน้าที่ตรงหน้างานและแบบควบคุมอัตโนมัติ ภาษาชาวบ้านเรียกกันสนุกๆ ว่า "สับราง"

Buffer stop (บัพเฟอ สตอป) : ชุดแป้นปะทะ ใช้สำหรับป้องกันมิให้ขบวนรถไหลต่อจากจุดสิ้นสุดของทางวิ่ง และเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ โดยติดตั้งไว้ที่ปลายราง

Derail (ดิเรล) : ชุดประแจตกราง ใช้สำหรับป้องกันมิให้ขบวนรถเคลื่อนเข้าไปในพื้นที่ทางวิ่งที่ปิดเอาไว้ โดยติดตั้งถัดมาจากประแจปกติ

Nakhon Ratchasima depot, source : สุรเสียง พลับพลาสวรรค์

Railway turntable (เรลเวย์ เทิร์นเทเบิล) : ชุดวงเวียนกลับรถจักร ใช้สำหรับเปลี่ยนทิศทางของตัวรถให้เป็นฝั่งตรงข้าม ในกรณีที่ห้องควบคุมรถมีเพียงฝั่งเดียว หรือ เปลี่ยนทิศทางให้ตัวรถสามารถเข้าไปยังศูนย์ซ่อมบำรุงแบบ roundhouse ได้

New Ban Kradon station and ICD yard, Thanon-Jira junct.- Khon Khen dual-tracks project.

Rail yard (เรล ยาร์ด) : ระบบย่านสับเปลี่ยนขบวนรถไฟ ประกอบไปด้วยทางวิ่งที่แยกออกมาจากย่านประแจหลายตัว (switching yard) เนินปล่อยไหลตัวรถ (hump) และชุดควบคุมความเร็วการไหลตัวรถ (retarder)

Thanon-Jira junct.- Khon Khen dual-tracks project.

Dual-tracks railway (ดูอัล-แทรค เรลเวย์) : โครงสร้างทางวิ่งแบบคู่ขนาน หรือชื่อเรียกสั้นๆ คือ รถไฟทางคู่

Triple-tracks railway (ทริปเปิล-แทรค เรลเวย์) : โครงสร้างทางวิ่งที่มีถึง 3 ทางขนาน หรือชื่อเรียกสั้นๆ คือ รถไฟทางสาม

Quadruple-tracks railway (ควอดรูเปิล-แทรค เรลเวย์) : โครงสร้างทางวิ่งที่มีถึง 4 ทางคู่ขนาน หรือชื่อเรียกสั้นๆ คือ รถไฟทางสี่

Switchback tracks (สวิตช์แบค-แทรค) : โครงสร้างทางวิ่งแบบประแจสลับฟันปลา เหมาะสำหรับการก่อสร้างงานโยธาในช่วงที่มีความลาดชันสูง มีพื้นที่จำกัด และเป็นอุปสรรคต่อการวางแนวขยายเส้นทางเดินรถในโครงการนั้นๆ

Level crossing (เลเวล ครอสซิง) : ทางรถไฟผ่านถนนชนิดเสมอระดับ กรณีนี้จะพบได้ในช่วงที่ถนนตัดผ่านเส้นทางรถไฟ โดยจะมีเครื่องหมายจราจร สัญญาณไฟสี และระบบเครื่องกั้นทางอยู่ในพื้นที่เดียวกัน พบมากในเส้นทางที่ปริมาณการสัญจรของขบวนรถไฟมีจำนวนน้อย-เบาบาง

[EMU] Monorail (โมโนเรล) : โครงสร้างทางรถไฟแบบรางเดี่ยว มีทั้งแบบทางวิ่งปกติบนคานคอนกรีต-คานเหล็กหนาๆ (straddle-beam) และแบบแขวนห้อยลงมา (suspended) เหมาะสำหรับระบบขนส่งมวลชนภายในเมือง หรือเครือข่ายคมนาคมย่อยๆ รองจาก mass metro heavy-rail ที่หมายถึงระบบขนส่งมวลชนรางหนัก

(เอ็นทรีนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลง หากมีการแก้ไข เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่ๆ ในโอกาสถัดไป)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น