วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561

[มะพร้าวห้าวขายสวน]แนวทางในการประกอบ "คอมพ์แอบแรง"(Sleeper PC building guide)

ห่ะบัตยูววว.....



บทความแนว DIY (do it yourself) นี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในการนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ ในแบบที่ยังไม่มีเว็บใดเขียนขึ้น หรือ เขียนแล้วดูคลุมเครือ โดยในครั้งนี้เราจะมาพูดถึงการประกอบคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง โดยที่คนทั่วไปยังมองว่า "คอมพิวเตอร์เครื่องเก่าจะเอามาใช้ได้ในยุคนี้น่ะหรือ ดูท่าว่าน่าจะไม่แรง แถมโหลดช้าอีกต่างหาก" แต่เมื่อเปิดเครื่องให้ดูกันจะๆ พบว่าเครื่องคอมพ์เก่าๆ เครื่องนั้นมันดูทันยุคทันสมัยมาก โหลดอะไรก็เร็วปรื้ด แถมสู้กับคอมพ์ที่ประกอบใหม่ๆ ตัวถังใหม่ๆ มือหนึ่งได้อีก ถ้าอ่านบทนำนี้แล้วเริ่มสงสัย งั้นเลื่อนลงตามไปเลยดีกว่าว่า Sleeper PC มันคืออะไร?? ทำไมยังมีคนส่วนหนึ่งยังคงนิยมเล่น?? และเขาสร้าง/ประกอบขึ้นมาอย่างไร??

----------------

คำจำกัดความของ Sleeper PC

ถ้าพูดถึงรถยนต์เก่าๆ หรือ รถยนต์หน้าตาบ้านๆ ธรรมดาๆ คันหนึ่ง ดูภายนอกก็ยังคงสภาพเดิม แต่กลับสามารถเอาชนะรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เครื่องแรงๆ นั้นได้ นั่นแหละคือการปรับแต่งรถยนต์แบบ sleeper โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพภายในเพียงอย่างเดียว นอกนั้นปล่อยให้คงสภาพภายนอกตามปกติเอาไว้ แต่กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะในยุคปัจจุบัน ถือว่าเป็นแนวทางการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน ไม่ว่าจะเป็นการนำเครื่องยุค 1990 ตัวถังแนวนอนมาถอดโละอุปกรณ์ตัวเก่า ดัดแปลงให้สามารถติดตั้งอุปกรณ์ชิ้นใหม่ๆ ตามมาตรฐาน ATX-mATX-iTX การจับเครื่องแบรนด์เนม(ยี่ห้อดังๆ)รุ่นเก่าๆ มายกอุปกรณ์ใหม่ๆ ทั้งชิ้น โดยที่โครงสร้างภายนอกยังคงสภาพเดิม เป็นต้น

ในบ้านเรายังไม่ค่อยนิยมนัก อย่างมากก็จะเรียกว่า "น้องหมก" (เพจแดงปลาสวรรค์) หรือ "คอมพิวเตอร์สายหมก" ก็ได้

แนวทางการทำ Sleeper PC เริ่มต้นอย่างไร

อันดับแรกคือการหาซื้อตัวถัง(เคส)เก่าๆ ตามมาตรฐาน ATX-mATX-iTX ที่คิดว่าเหมาะสมกับอุปกรณ์ชิ้นนั้นๆ จากแหล่งใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น พันธ์ทิพย์ ประตูน้ำ, พาลาเดียม ประตูน้ำ, ฟอร์จูนทาวน์ เพชรบุรีตัดใหม่ หรือที่เซียร์รังสิต ลำลูกกา แต่ถ้าอยากลงมือทำกับเคสแนว Low-profile (เคสเล็ก เคสเตี้ย ก็ว่า) อย่างที่ทางเราจะนำเสนอ มันน่าจะดีไม่น้อยที่ต้องเลือกใช้อุปกรณ์เฉพาะทางของมันโดยตรง วางแผนว่าจะเล่นสเปคอะไรกับตัวถังเก่าๆ ดี และอย่าลืมคำนวนการใช้พลังงานก่อนเลือก power supply ที่คิดว่าเหมาะสมที่สุด



ตัวอย่างแนวทางนี้เราจะใช้เคสคอมพิวเตอร์แบรนด์เนม IBM Aptiva type 2196 มีลักษณะตัวถังแบบ Low-profile และเป็น mATX แถมไม่ต้องดัดแปลงมากมาย โดยขั้นตอนจะเป็นดังต่อไปนี้

- รื้อของเก่าออกมาให้หมด ทำความสะอาดให้หมดทุกชิ้น และแยกเอาอุปกรณ์เก่าๆ ที่เราไม่จำเป็นออกไป



- สำรวจดูโครงสร้างภายในว่าควรจะดัดแปลง ปรับแต่งอะไรบ้าง เพื่อให้เข้ากับอุปกรณ์ชิ้นใหม่ๆ ให้มากที่สุด ที่แน่ๆ อาจจะต้องพึ่งทักษะทางช่างในการตัด ดัด เจียร เจาะ กับจุดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงกันบ้าง



กรณีในภาพโดยเฉพาะบริเวณด้านหลัง หากสังเกตดูองค์ประกอบที่เราต้องการ จะพบว่าบางชิ้นส่วนยังเข้ากันไม่ได้กับอุปกรณ์ที่กำลังจะนำมาติดตั้งใหม่อย่าง Mainboard ซึ่งจะมีชิ้นส่วนอย่างเพลตหลัง (back plate หรือแผง IO shield) หากลองเอามาใส่แล้วไม่พอดี ให้ขยายขนาดช่อง IO shield เดิมโดยต้องมีขนาดกว้าง 45 mm ยาว 159 mm ตามมาตรฐาน ATX platform


- เตรียมอุปกรณ์ชิ้นใหม่ให้พร้อม เพื่อความชัวร์ให้นำไปเทียบกับของเก่าดูก่อนก็ได้



- ลองเอาอุปกรณ์ชิ้นใหม่มาเทียบขนาดกับตัวถัง ถ้ามันพอดีก็ข้ามไปยังจุดอื่นต่อ แต่ถ้าไม่พอดี ให้กลับไปดัดแปลงอีกรอบ



กรณีในภาพนี้ Power supply ที่ทางเรานำมาใช้ จะต่างจากแบบธรรมดาทั่วไปที่มีขายตามห้างไอที ซึ่งอาจจะต้องใช้ flex power supply กับเคสคอมพิวเตอร์บางรุ่น ตั้งแต่ 1U, 2U ไปจนถึงรุ่นที่ใช้กับเซิร์ฟเวอร์ โดยเป็นการดัดแปลงเอามาใส่เผื่อมันเข้ากันได้ไว้ก่อน



- หากทุกอย่างลงตัวหมดแล้ว ก็เริ่มดำเนินการประกอบทีละชิ้นส่วน เริ่มต้นจาก Power supply, Mainboard, CPU,RAM แล้วนำไปติดตั้งตามลำดับ จัดวางสายให้เรียบร้อย



- ประกอบชิ้นส่วนที่เหลือ เช่น สายเสียบจากแผงด้านหน้า, VGA(ถ้ามี), Harddisk, card reader, DVD เชื่อมต่อให้เรียบร้อย



- เสียบอุปกรณ์ภายนอก เมาส์ คีย์บอร์ด จอภาพ และปลั๊กไฟ จากนั้นทดสอบความเรียบร้อยของชิ้นงาน



การทำ Sleeper PC ยังมีรูปแบบอื่นๆ ให้ได้ลองอีกเยอะ อย่างเช่น ดัดแปลงจากเครื่องที่รองรับแค่มาตรฐาน AT มาเป็นมาตรฐาน ATX ทำให้เครื่องรุ่นที่ตกยุคกลับมาเร็วแรงขึ้นโดยที่ลักษณะภายนอกยังเดิมๆ แต่ดูหลอกตา เป็นต้น แล้วแต่ว่าการตกแต่งปรับปรุงนั้นมีความซับซ้อนมากแค่ไหน 

แต่จุดที่สำคัญที่สุดคือ การเลือกชิ้นส่วนใหม่ๆ นั้นจะต้องเข้ากันได้ และต้องหาแหล่งที่มีวางขายสำหรับอุปกรณ์เฉพาะอย่างที่ไม่มีขายทั่วไป ซึ่งอาจจะต้องสั่งซื้อ หรือสั่งทำเฉพาะ แล้วนำมาแทนที่ของเดิม โดยอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มเติม จนกว่าจะได้ sleeper PC เครื่องหน้าตาเก่าๆ เดิมๆ เพิ่มเติมคือสเปกใหม่ๆ ตามที่เราต้องการ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น