วันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2566

[มะพร้าวห้าวขายสวน]การแข่งขันยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ (World Solar Challenge)

ห่ะบัตยูวววว...


เอนทรีนี้ไม่เกี่ยวกับการวาดรูป ไม่เกี่ยวกับเรื่องราวอันปกติสุขของชาวเว็บบล็อกทั่ว ๆ ไป แต่ในช่วงปลายเดือนตุลาคม (22nd - 29th) ปี 2566 นี้ จะเข้าสู่การแข่งขันที่น้อยคนนักจะนึกถึง ซึ่งเราอาจจะพอผ่านหูผ่านตาไปบ้างกับการแข่งขันรถสูตรไฟฟ้า หรือ Formula-E ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดย FIA อันเป็นการปูทางนำไปสู่นวัตกรรมยานยนต์ใหม่ ๆ ที่มีเป้าหมายในการลดใช้ทรัพยากรจำพวกเชื้อเพลิงฟอสซิล (ปิโตรเลียม) ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือไม่อาจเป็นการเสาะหาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการคมนาคมขนส่งในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือการสร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ด้วยระบบ solar-cell แล้วนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ มาขับมอเตอร์ให้หมุนเป็นพลังงานกล นั่นเอง

หมายเหตุ : หัวข้อไหนที่ไม่มีรูปภาพประกอบ ก็ต้องขออภัยที่หาแหล่งต้นฉบับอ้างอิงไม่ได้ หรือถ้าจัดหามาได้แล้ว จะรีบดำเนินการเพิ่มเติมให้ในภายหลัง

-------------------

ความเป็นมา และรูปแบบคร่าว ๆ ของการแข่งขันนี้



Bridgestone™ World Solar Challenge หรือเรียกย่อ ๆ ว่า BWSC คือการแข่งขันนวัตกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าอีกแขนงหนึ่ง หมายถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานงานแสงอาทิตย์ล้วน ๆ หรือเรียกชื่อว่า "รถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์" ไม่จำเป็นต้องมีการจอดพักชาร์จประจุไฟเหมือนรถ BEV (battery electric vehicle) ซึ่งก็จะรวมการแข่งขันแบบ endurance racing เข้าเป็นส่วนหนึ่งด้วย คือ รถแข่ง 1 คัน จะต้องวิ่งข้ามภูมิประเทศ ผ่านเส้นทางที่กำหนด เป็นระยะทาง 3,000 กิโลเมตร ผ่าน stage point ทั้ง 11 จุด จากต้นทางจนถึงปลายทาง อนุญาตให้มีรถยนต์สังเกตการณ์คอยติดตามไปด้วย นี่จึงเป็นการแข่งขันที่ต้องวัดกันด้วยความทรหดอดทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการจัดการภายในทีมแข่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการแข่งของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

STC-4 "Thainamic" cruiser class, Source : Kittiset Kengkarnkha


โดยการแข่งขันดังกล่าวนี้ เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) โดยเว้นช่วงการจัดแข่งไป 1 ปี หรือ ปีเว้นปี และจัดต่อเนื่องกันมาเรื่อย ๆ ปัจจุบันจัดเป็นครั้งที่ 16 ซึ่งก็คือปี 2566 (2023) ส่วนเส้นทางการแข่งขันระยะทาง 3,000 กิโลเมตร จะเริ่มจาก ดาร์วิน (Darwin) รัฐนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี สิ้นสุดที่ แอดิเลด (Adelaide) รัฐเซาท์ออสเตรเลีย สภาพเส้นทางการแข่งขันนั้นถือว่าสมบุกสมบั่นใช้ได้ เพราะต้องเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในเวลากลางวัน หนาวจัดในเวลากลางคืน เหมาะสำหรับการท้าทายความสามารถของรถแข่งประดิษฐ์ทุกคลาสการแข่งขัน


คลาส และกติการูปแบบของรถที่เข้าแข่งขัน



การแข่งดังกล่าวนี้แบ่งออกเป็น 3 คลาส ได้แก่ Challenger class, Criuser class และ Adventure class โดยรถแข่งประดิษฐ์ในแต่ละคลาสจะมีการกำหนดลักษณะเฉพาะอยู่แล้วใน 2 คลาสแรก ยกเว้นคลาส Adventure ที่ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องเป็นแบบไหน ซึ่งจะอธิบายแยกย่อยในแต่ละคลาสอีกที

- Challenger class




รถแข่งประดิษฐ์ในคลาสนี้เน้นทำเวลา ทำระยะทางเป็นหลัก ตัวรถจะมีความเพรียวบาง น้ำหนักเบา ลู่ลมได้ดี สามารถเค้นประสิทธิภาพของการแปลงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานกลอย่างเต็มที่ โดยกติกาการทำรถรูปแบบนี้จะกำหนดให้

Example for 4 wheels solar car.

Example for 3 wheels solar car.

- มีความยาวไม่เกิน 5 เมตร
- มีความกว้างไม่เกิน 2.2 เมตร
- จำกัดพื้นที่วางแผงรับแสงอาทิตย์ไม่เกิน 4 ตารางเมตร
- มีจำนวนล้อไม่ต่ำกว่า 3 ล้อ
- น้ำหนักรถเปล่าโดยเฉลี่ย ไม่ถึง 1 ตัน
- ใช้นักขับคนเดียว
- แข่ง stage เดียวจบ จากจุดเริ่มต้น-จุดสิ้นสุด

รูปทรงรถในคลาสนี้จะมีการออกแบบให้ดูล้ำ ๆ เป็นพิเศษ มีทั้งแบบ 3 ล้อ จนถึง 4 ล้อ แต่แท้จริงแล้วรูปทรงนี้ถูกออกแบบมาให้มีพื้นที่จำกัดมาก ๆ เน้นวางแผงรับแสงอาทิตย์ให้เต็มพื้นที่ ที่เหลือจะเป็นการติดตั้งชุดแบตเตอรี่ ชุดแปลงกระแสไฟฟ้า ชุดมอเตอร์ขับเคลื่อน ชุดบังคับเลี้ยว ระบบไฟส่องสว่าง และห้องคนขับ (แน่นอน ไม่มีระบบปรับอากาศ) ซึ่งรูปทรงของรถแข่งที่นิยมนั้นจะมี bullet, canopy, tadpole, delta มีการจัดตำแหน่งห้องคนขับในแบบ port, center, starboard ตามความสะดวกของทีมออกแบบรถเพื่อการแข่งขัน

- Cruiser class




รถแข่งประดิษฐ์ในคลาสนี้มีความใกล้เคียงกับรถที่ผลิตขายจริง ๆ คือ สามารถบรรทุกได้ทั้งผู้โดยสาร และสัมภาระไปพร้อมกับรถด้วย ยิ่งบรรทุกเยอะตามเกณฑ์ที่กำหนด ยิ่งได้คะแนนพิเศษเพิ่มขึ้นอีก ยกระดับความท้าทายให้การทำรถแข่งคลาสนี้สามารถต่อยอดนำไปใช้งานบนท้องถนนได้จริง โดยกติกาการทำรถรูปแบบนี้จะกำหนดให้

Example for cruiser solar car.

- มีความยาวไม่เกิน 5 เมตร
- มีความกว้างไม่เกิน 2.2 เมตร
- จำกัดพื้นที่วางแผงรับแสงอาทิตย์ไม่เกิน 5 ตารางเมตร
- มีจำนวนล้อไม่ต่ำกว่า 4 ล้อ
- น้ำหนักรถเปล่าโดยเฉลี่ย 1 ตัน ขึ้นไป หรือเทียบเท่า
- มีนักขับ 1 คน และผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 1 คน
- แข่ง 3 stage (stage ละ 1,200 กิโลเมตร) โดยไม่จอดพักชาร์จไฟ

รูปทรงรถในคลาสนี้จะใกล้เคียงกับรถ sedan, coupe และ minivan เพราะกำหนดให้รถแข่งคลาสนี้มีผู้โดยสารติดไปด้วย สูงสุดไม่เกิน 3 คน รวมคนขับด้วยเป็น 4 คน สามารถติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารได้เล็กน้อย (รวมระบบปรับอากาศ) ซึ่งจะมีผลทำให้ลดทอนประสิทธิภาพของรถลงไปในขณะเดินทาง

- Adventure class


รถแข่งประดิษฐ์ในคลาสนี้ไม่ได้เน้นแข่งขันจริง ๆ จัง ๆ นัก แต่เป็นคลาสทดลองนวัตกรรมอื่น ๆ ที่อ้างอิงจากกติกาปีก่อน ๆ หรือ ลองเชิงลองสัมผัสประสบการณ์สักครั้งก่อนจะเข้าแข่งจริงใน 2 คลาสก่อนหน้า การออกแบบรถแข่งจะไม่ได้ใช้กติกา challenger หรือ cruiser เลย เราจึงได้เห็นรถพลังงานแสงอาทิตย์รูปร่างแปลก ๆ แบบนี้ตลอดการแข่งขัน

-------------------

แหล่งข้อมูลอ้างอิง


Bridgestone World Solar Challenge (Official site)
BWSC Solar Car Designs (Scientific Gems, Wordpress)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น