วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

[มะพร้าวห้าวขายสวน]ตามติดชีวิตเด็กช่าง...กับการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย (Rescue Robotics)

ห่ะบัตยูวววว...แจ๊กกวิ้งแกว๊สสสส!!

เอนทรีนี้ไม่เกี่ยวกับการวาดรูป ไม่เกี่ยวกับเรื่องราวอันปกติสุขของชาวเว็บบล็อก แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของชาวอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาสายช่างอิเล็กทรอนิกส์ล้วนๆ ซึ่งกำลังจะกล่าวถึง "การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย"

หมายเหตุ : รูปภาพประกอบทั้งหมดนี้เป็นลิขสิทธิ์ของกลุ่มนักวิจัยหุ่นยนต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (Ratchasima Rajbhat Robotics Researcher) หรือ Four-R อนุญาตให้นำไปเผยแพร่ได้ โดยยึดหลักอนุสัญญาครีเอทีฟคอมมอนส์ ชนิดระบุที่มา-ไม่ใช่เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0


หุ่นยนต์กู้ภัย(ตัวเจ้าภาพ ปี 2009)ของทีม BART LAB จากมหาวิทยาลัยมหิดล(ศาลายา)


ภาพบรรยากาศการแข่งขันในปี 2553 ที่ผ่านมา

น้อยคนนักที่ไม่ได้เรียนมาทางนี้ ซึ่งก็ถูกมองว่ามันคือส่วนย่อยๆ เป็นเพียงแค่วิทยาการเล็กๆ ที่ไม่ได้ถูกเผยแพร่อย่างจริงจัง แต่สำหรับวงการนี้ มันคือสวรรค์ของชาวช่างเทคนิค(สาขาไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเมคคาทรอนิกส์) ทั้งระดับอาชีว และอุดมศึกษา ได้แสดงความสามารถจากการเรียนรู้ ปฏิบัติอย่างจริงจัง และสามารถแข่งขันชี้วัดถึงขีดจำกัดของตนเอง รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนเทคนิค กับประสบการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี



ความหมายของการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย

สำหรับ "การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย" หรือ Rescue Robot Competition ซึ่งจัดขึ้นเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีความสามารถในการค้นหา และระบุตำแหน่งผู้ประสบภัย หรือผู้รอดชีวิต ที่กำลังคนปกติไม่สามารถเข้าถึง ในสถานการณ์อุปสรรคที่ถูกจำลองขึ้น โดยจะมีเครื่องมืออุปกรณ์จำเป็นต่างๆ ในการค้นหาผู้ประสบภัยติดตั้งอยู่บนตัวหุ่น เช่น อุปกรณ์ระบบกล้องวิดีทัศน์วงจรปิด อุปกรณ์ตรวจจับชนิดต่างๆ ตามมาตรฐาน และอุปกรณ์แขนกลสำหรับการหยิบจับเอาความช่วยเหลือต่างๆ ไปส่งให้ถึงตัวผู้ประสบภัย เป็นต้น


ตัวอย่างหุ่นยนต์กู้ภัย จากทีมของ จขบ.

ลักษณะการแข่งขัน

โดย ให้กรรมการตรวจสภาพอุปกรณ์ที่มีติดตั้งอยู่ในตัวหุ่นยนต์ก่อนเป็นลำดับแรก และจะเริ่มต้นการแข่งขันทันที เมื่อผู้บังคับหุ่นยนต์เข้าสู่ห้องควบคุม และลูกทีมได้นำตัวหุ่นยนต์ไปประจำยังจุดทำการแข่งขันแล้ว




การแข่งขันในแต่ละรอบ จะมีเวลาให้หุ่นยนต์ได้เข้าไปปฏิบัติการทีมละ 10-15 นาที และการแข่งขันนั้นจะต้องให้ตัวหุ่นยนต์เคลื่อนผ่านเส้นทางจำลอง ตามระดับความยากง่ายตั้งแต่ต้น จนพบบริเวณต้องสงสัยว่าน่าจะมีผู้ประสบภัยซ่อนอยู่ตามจุดต่างๆ โดยจำแนกจากรูปแบบสนามตามพื้นที่ดังนี้


  • พื้นที่สีเหลือง (ง่าย/จุดทำคะแนนสำหรับหุ่นยนต์อัตโนมัติ)
  • พื้นที่สีส้ม (ยากปานกลาง/จุดทำคะแนนสำหรับหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกล)
  • พื้นที่สีแดง (ปานกลางถึงยากมาก/จุดทำคะแนนสำหรับหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกล)
  • พื้นที่สีน้ำเงิน (ยากมาก/ใช้ระบบแขนกลได้/จุดทำคะแนนสำหรับหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกล)
  • พื้นที่สีเหลืองดำ (ยากมาก/อับสัญญาณ/ใช้ระบบสลับการควบคุมได้/จุดทำคะแนนสำหรับหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกล)
  • พื้นที่สีดำ (ยากมาก/มีซากยานพาหนะจำลอง/ใช้ระบบแขนกลได้/จุดทำคะแนนสำหรับหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกล)


การทำคะแนน


สำหรับคะแนนที่ทำได้เมื่อพบผู้ประสบภัยตามจุดต่างๆ ตามปกติในการแข่งขันจะมีผู้ประสบภัยจำลองให้ค้นหาเพื่อทำคะแนนถึง 14 จุด(หรือมากกว่า)** โดยหลักๆ จะมีให้ค้นหาได้ในแต่ละพื้นที่ดังนี้


  • พื้นที่สีเหลือง 4 จุด
  • พื้นที่สีส้ม 4 จุด
  • พื้นที่สีแดง 4 จุด
  • พื้นที่สีเหลืองดำ 2 จด

(**อาจมีการเปลี่ยนแปลง ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการ)

การทำคะแนนหลักๆ ส่วนมากจะเน้นในด้านความสามารถทางด้านระบบการมองเห็น(สี สัญลักษณ์ และความชัดเจน) การได้ยิน การรับรู้อุณหภูมิ การหายใจ(อุปกรณ์ตรวจจับก๊าซ) และระบบแผนที่ โดยจะมีกรรมการสังเกตอยู่ทั้งในสนามแข่ง และข้างๆ ผู้ควบคุม โดยจะจำแนกการให้คะแนนดังนี้

คะแนนการมองเห็น (10 คะแนน)


  • ป้ายสัญลักษณ์ เมื่อระบุสี และความหมายถูกต้อง (5 คะแนน)
  • ป้ายทดสอบสายตา เมื่อระบุทิศทางถูกต้อง (5 คะแนน)


คะแนนระบบตรวจจับ (20-25 คะแนน)


  • ระบบตรวจจับการเคลื่อนไหว (5 คะแนน)
  • ระบบตรวจจับอุณหภูมิ (5 คะแนน)
  • ระบบตรวจจับการหายใจ(คาร์บอนไดออกไซด์) [5 คะแนน]
  • ระบบวิทยุสื่อสาร(ผู้ประสบภัย > ผู้ควบคุม) [5 คะแนน]
  • ระบบวิทยุสื่อสาร(ผู้ควบคุม > ผู้ประสบภัย) [5 คะแนน]


คะแนนระบบแผนที่ (20 คะแนน)(สำคัญ)


  • คุณภาพ ความคมชัด และระบุมาตรส่วนถูกต้อง(บันทึกภาพแผนที่เป็น TIF ก่อนส่งให้กรรมการเมื่อจบการแข่งขัน) [10 คะแนน]
  • ระบุระยะทาง และจุดพบผู้ประสบภัยได้ถูกต้อง (10 คะแนน)


คะแนนระบบแขนกล (20 คะแนน)

สามารถทำได้ในเขตพื้นที่สีน้ำเงินเท่านั้น โดยจะต้องหยิบจับแท่งไม้ หรือขวดน้ำจากจุดบริการ ไปส่งยังจุดพบผู้ประสบภัย หากทำสำเร็จก็จะได้คะแนนในส่วนนี้

บทลงโทษ (-10 คะแนนต่อครั้ง)


  • เมื่อหุ่นยนต์ไปทำลายสนามให้ได้รับความเสียหาย จนต้องยุติการแข่งขันชั่วคราวเพื่อซ่อมบำรุง
  • ทำให้ผู้ประสบภัยจำลองเสียหาย


ในกรณีที่ไม่ได้คะแนนใดๆ เลย กรรมการจะตัดสินจากระยะทางที่หุ่นยนต์เคลื่อนจากจุดเริ่มต้น(โดยดูจากระบบแผนที่หุ่นยนต์เป็นหลัก)

รูปแบบสนามที่ใช้แข่งขัน

สำหรับสนามแข่งนั้น ก็จะถูกออกแบบมาเพื่อวัดประสิทธิภาพของหุ่นยนต์จากกลุ่มผู้เข้าแข่งขัน โดยจะเริ่มต้นจากสนามแข่งระดับง่ายๆ แบบนี้


และระดับยากๆ มีความท้าทายสูง แบบนี้


แน่นอนว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด การแข่งขันนั้นจะเน้นในด้านการใช้ทักษะการเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางที่กำหนด และใช้การระบุตัวผู้ประสบภัยจากอุปกรณ์ที่กำหนดด้วย



ลีลาการทดสอบหุ่นยนต์กู้ภัย ของทีมงาช้างดำ วิทยาลัยเทคนิคน่าน

ทั้งหมดนี้เป็นตัวที่จะเกริ่นนำในเรื่องของภาพรวมการแข่งขันทั้งหมด ซึ่งถ้าสนใจ หรืออยากจะเจาะลึกมากกว่านั้น ทางผู้เขียนยินดีที่จะเผยแพร่ หรือพูดถึงรายละเอียดปลีกย่อยของการแข่งขัน "หุ่นยนต์กู้ภัย" กันต่อในเอนทรีหน้า เพื่อผู้สนใจจากสถานศึกษาอื่นสามารถนำไปอ้างอิง หรือนำไปศึกษาการสร้าง เพื่อนำมาแข่งขันได้ในที่นี้

(อิดิทเพิ่มเติม)แถมจ่ะ...



ขอบคุณสำหรับการติดตามชมเอนทรีนี้อีกครั้ง...

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย (Thai Robotics Society)
การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย

http://en.wikipedia.org/wiki/Rescue_robot_competition
http://wiki.robocup.org/wiki/Robot_League

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น