วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

[มะพร้าวห้าวขายสวน]คุยเพื่องเรื่อง Mainboard

ห่ะบัตยูววว.....

อัพเดทเอนทรีสาระคอมพิวเตอร์ครับ ซึ่งแทบจะขาดไม่ได้เลย เพราะนี่เป็นหัวใจหลักของการทำงาน และเป็นศูนย์รวมอุปกรณ์ที่ทำให้คอมพิวเตอร์(ตั้งโต๊ะ)ทำงานด้วย ซึ่งผมกำลังจะกล่าวถึง "Mainboard"

กล่าวโดยนัยก็คือ Mainboard เป็นอุปกรณ์เริ่มต้นสำหรับการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องไว้ใช้งาน โดยมันทำหน้าที่รองรับการทำงาน Hardware ต่างๆ ที่ถูกประกอบเข้าเพื่อใช้งานคอมพิวเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องประกอบเข้ากับอุปกรณ์ส่วนควบทั้ง CPU, RAM, VGA, Hard drive, Optical Drive เข้าด้วยกัน และที่ขาดไม่ได้คือการต่อแหล่งจ่ายไฟ (Power supply) เข้าไป เพื่อให้คอมพิวเตอร์เปิดใช้งานได้ ก่อนการติดตั้งระบบปฏิบัติการ และโปรแกรมประจำเครื่องต่อไป


ในท้องตลาด(ห้างไอทีดังๆ) จะพบว่ามีร้านจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ วางขายตัว Mainboard หลากรุ่นหลายยี่ห้อไม่ซ้ำแบบกัน ทั้งแบบสภาพมือหนึ่งไล่จนไปถึงสภาพมือสองพอดูดีที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว และมีแพลตฟอร์มที่ต่างกันด้วย แพลตฟอร์มนี่ล่ะครับ คือขนาดของตัว Mainboard ที่ผู้ผลิตได้ผลิตออกมาเพื่อแบ่งแยกการใช้งานได้อย่างชัดเจน

มาดูกันว่ามีแพลตฟอร์มไหนบ้างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี่ล่ะนะ

ชนิดของ Mainboard

มีการแบ่งแยกชัดเจนว่ามีขนาดที่ได้ระบุเป็นมาตรฐานไว้ แบ่งแยกจุดประสงค์ในการนำไปติดตั้งใช้งาน ส่วนมากนิยมใช้อยู่ถึง 4 ชนิด คือ


- ATX แพลตฟอร์มนี้จะเป็นขนาดมาตรฐานที่สามารถประกอบใส่ Case แบบ Tower โดยตรง ไม่มีการ์ดจอ On-board ติดมาให้(บางรุ่นอาจจะมีมาให้เลย) ซึ่งจะรองรับอุปกรณ์ได้มาก เหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่มีทักษะความรู้คอมพิวเตอร์อยู่แล้ว และต้องการประสิทธิภาพที่อยู่ในระดับสูง โดยสามารถเพิ่มเติมอุปกรณ์ได้ในภายหลัง


- mATX / micro ATX เป็นแพลตฟอร์มขนาดมาตรฐานที่ย่อส่วนมาจาก ATX เพื่อให้ประหยัดพื้นที่ในการติดตั้ง เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่ไม่ต้องการประสิทธิภาพอะไรมากมาย แค่สามารถนำไปใช้งานได้รอบด้านระดับกลางๆ และใช้ในครอบครัว ซึ่งจะมีการ์ดจอ(Onboard)ติดตั้งมาให้พร้อมใช้งาน และยังสามารถอัพเกรดไปใช้การ์ดจอแบบ slot ได้ ด้วยเหตุนี้ Mainboard จะมีรหัสรุ่นที่ลงท้ายด้วย M เสมอ


- ITX / mini ATX เป็นแพลตฟอร์มที่ย่อส่วนมาจาก mATX จึงมีขนาดเล็กกระทัดรัดเพื่อให้ประหยัดพื้นที่ในการติดตั้ง เพียงแต่ลดจำนวนชิ้นส่วนให้เหลือไว้ใช้งานเบื้องต้น มีการ์ดจอ (Onboard) ติดตั้งมาให้พร้อมใช้งาน บางรุ่นไม่เหมาะที่จะเอาไปใช้งานหนักๆ นอกจากเข้าเว็บ ทำงานเอกสารเล็กๆ น้อยๆ แพลตฟอร์มแบบนี้ในช่วงแรกๆ จะไม่มีขายตามท้องตลาด ส่วนมากมีติดตั้งอยู่ใน Barebone PC หรือ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะขนาดเล็กระดับองค์กร(ส่วนมากเรียกเคสเตี้ย) ด้วยเหตุนี้ Mainboard จะมีรหัสรุ่นที่ลงท้ายด้วย I เสมอ


- BTX แพลตฟอร์มนี้ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาความร้อนภายในเครื่อง ให้อยู่ในระดับสมดุลกันทั้งตัวเคสและตัวอุปกรณ์ โดยเปลี่ยนตำแหน่งให้ตัวของมันอยู่ในแนวระดับที่สามารถระบายความร้อนได้มากที่สุด โดยจัดวางให้ CPU อยู่ในทิศทางด้านหน้าเคส ซึ่งอิงกับทิศทางลมร้อนที่ลอยขึ้นไปด้านบน มีให้เลือกทั้ง BTX และ mBTX โดยในขณะนี้ถือว่ายังไม่เป็นที่นิยมนัก มีความยุ่งยากในการอัพเกรดไปใช้รุ่นที่ดีกว่าเดิม(เพราะมันหายาก) แต่จะพบอยู่ในเครื่องยี่ห้อแบรนด์เนมดังๆ เท่านั้น ซึ่งในอนาคตอันใกล้ก็อาจจะมีการผลิตออกมาเฉพาะการณ์ก็ได้

ที่มา : Computer form factor (Wikipedia)

ตามจริงมีหลายรูปแบบครับ ทั้งแบบใหญ่สุด EATX (Extend ATX) ที่สามารถรองรับ CPU ได้ถึง 2 ตัว จนถึงเล็กสุด Pico-ATX สำหรับคอมพิวเตอร์ขนาดกระทัดรัด แต่เอาเฉพาะที่สำคัญๆ ที่มีขายอยู่ปัจจุบัน รองรับ CPU หลากรุ่นหลายยี่ห้อ มีช่องเสียงการ์ดจอคละแบบ บางครั้งอาจจะมีคุณสมบัติเฉพาะบางอย่างที่แถมมาให้ หรือมีของอย่างอื่นติดมาให้ใช้งาน และอย่างน้อยเราเองน่าจะทำความเข้าใจสักหน่อย ว่ามันทำงานอย่างไร

----------------

ส่วนประกอบ

การทำงานของมันก็จะเป็นไปตามไดอะแรมดังภาพด้านล่างนี้


โดย North bridge จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางควบคุมทั้งอุปกรณ์ความเร็วสูง และตัว South bridge จะคอยควบคุมอุปกรณ์ความเร็วต่ำ โดยมีเจ้าตัว Basic Input/Output System หรือที่เราเรียกในนาม BIOS คอยรับหน้าที่ดูแลตรวจสอบ (รุ่นใหม่ๆ จะเป็น UEFI ที่ใช้งานง่าย สะดวกขึ้นกว่าเดิม) ก่อนส่งต่อให้ระบบปฏิบัติการรับผิดชอบต่อไป

ส่วนการติดต่อกันระหว่างอุปกรณ์ จะเป็นรูปแบบการติดต่อกันสองทิศทางตลอดเวลา คือส่งและรับการติดต่อจากอุปกรณ์หนึ่ง ไปอีกอุปกรณ์ได้พร้อมๆ กัน อย่างรวดเร็ว

ที่นี้หากเราซื้อมา หรือได้รับมาใช้แล้ว เราอาจจะต้องทำความเข้าใจว่า เจ้าตัว Mainboard นี้มีอะไรติดมาบ้าง


ตัวอย่างส่วนประกอบสำคัญบน Mainboard (ASUS P7H57D-V EVO) socket 1156


  • CPU slot/socket ส่วนติดตั้ง CPU ควบคุมโดย North bridge ซึ่ง CPU มี Socket ที่แตกต่างกัน เช่น LGA775, LGA1156, AM2, AM3 รวมไปถึงมาตรฐานใหม่ๆ ที่กำลังจะออกวางจำหน่ายในอนาคต
  • RAM slot ส่วนติดตั้ง RAM ควบคุมโดย North bridge มีทั้งแบบ Single Channel และ Dual Channel
  • North bridge (chipset) ควบคุม รับคำสั่ง และจัดการอุปกรณ์ความเร็วสูง นั่นคือ CPU RAM และ VGA card และควบคุมตัว South bridge ด้วย โดยรุ่นใหม่ๆ จะควบคุมหมดทั้งแผงเลย
  • South bridge (chipset) ควบคุม รับคำสั่ง และจัดการอุปกรณ์ความเร็วต่ำ นั่นคือ  PCI, IDE, SATA และพอร์ตต่างๆ โดยรุ่นใหม่ๆ จะไม่มีผลิตออกมาแล้ว
  • expansion slot ช่องต่อการ์ด หรืออุปกรณ์ความเร็วต่ำ ควบคุมโดย South bridge ในที่นี้หมายถึง PCI, IDE, SATA หรือพอร์ตต่างๆ
  • High speed expansion slot ช่องต่อการ์ด หรืออุปกรณ์ความเร็วสูง ควบคุมโดย North bridge ในที่นี้หมายถึง PCI express และ AGP
  • Rear panel เป็นช่องต่ออุปกรณ์ภายนอกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น RS232, VGA, PS2, Audio, USB เป็นต้น


สิ่งสำคัญที่เราลืมไม่ได้คือ อุปกรณ์ส่วนควบที่แถมมาด้วย เช่น คู่มือ (Manual) ฝาปิดแผงหลัง (back-panel / back plate) สายเชื่อมต่อ หรือแม้กระทั่งไดร์เวอร์ เราไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด เพราะเราอาจจะต้องได้ใช้มันอย่างแน่นอน ในบางสถานการณ์ที่เครื่องคอมพิวเตอร์เสียขึ้นมา นอกเหนือจากของแถมที่เอาไว้อำนวยความสะดวก เช่น การ์ดเสียง การ์ดระบบเครือข่ายไร้สาย รวมถึงอุปกรณ์เชื่อมต่อเฉพาะทางของมัน

----------------

ปัญหาและการแก้ไข

หากเจอสถานการณ์แปลกๆ ที่อาจจะส่งผลให้คอมพิวเตอร์ใช้การไม่ได้ นั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะเสียหลายๆ จุด ในกรณีนี้เราเองก็สามารถคาดเดาได้จากสภาวะเครื่องคอมพิวเตอร์หลังกดสวิตซ์ หรือได้ยินเสียงร้องปิ๊บเป็นจังหวะโค้ด ซึ่งก็หมายความได้ว่าอะไรเสียบ้าง จะได้ซ่อมบำรุงแก้ไขได้ตรงจุด ให้สามารถกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

- เปิดเครื่องแล้วไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น แม้เราได้ต่อปลั๊กเรียบร้อยแล้ว(เปิดไม่ติด) เกิดจากการเชื่อมต่อ AC power (20-24 เข็ม)หลวม ให้เปิดฝาเคสแล้วเข้าไปขยับสายให้แน่น เมื่อเรียบร้อยแล้วลองเปิดอีกครั้ง

- เปิดเครื่องแล้วไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น แต่มีไฟเข้าระบบครบถ้วน อาจเปิดติดชั่วครู่แล้วดับไปเฉยๆ แต่เมื่อยกจากเคสแล้วเอามาเปิดข้างนอกจนกระทั่งติด อาการนี้เกิดจาก mainboard รุ่นใหม่ๆ มีระบบป้องกันการลัดวงจรไฟฟ้า ซึ่งต้องกลับไปแก้ไขโดยติดตั้งอปกรณ์ดังกล่าวใหม่อีกครั้ง และจัดหาอุปกรณ์ฉนวนป้องกันมารองรับขณะติดตั้งด้วย เช่น ฉนวนรองน๊อต

- เปิดเครื่องติด แต่หน้าจอไม่ขึ้น POST เกิดจากการ์ดจอหลวม ให้เปิดฝาเคสแล้วลองขยับการ์ดจอให้แน่น ขันสักรูให้เรียบร้อย บางทีตัวเคสที่ออกแบบมาไม่ดีก็มีผลไปทำให้อุปกรณ์บางตัวติดขัด หรือหลวมได้ หากเป็นไปได้ให้ทำการแก้ไขเคสคอมพิวเตอร์ให้มีความมั่นคง แข็งแรง แล้วประกอบเข้าคืนก่อนเปิดทอดสอบดู

- เปิดเครื่องติด มีเสียงปิ๊บเป็นจังหวะที่ไม่ใช่เสียงปิ๊บแบบปกติ(จอจะขึ้นหน้า BIOS POST หรือไม่ก็ได้) เป็นเสียงร้องของ BIOS ฟ้องว่ามีการทำงานผิดพลาดขึ้น ในที่นี้จะกล่าวถึง BIOS beep code ต่อไป

แล้ว BIOS beep code คือสิ่งที่จะระบุให้ผู้ใช้ Mainboard ทุกรุ่นได้ทราบว่าอาการผิดปกติ เกิดจากอะไร โดย BIOS beep code จะมีมาตรฐานตรงกับผู้ผลิต BIOS เสมอ ในที่นี้คือ American Megatrend(AMI) Award Modular และ Pheonix BIOS

----------------

AMI


  • ปิ๊บสั้น 1 ครั้ง : เครื่องทำงานปกติ
  • ปิ๊บสั้น 2 ครั้ง : หน่วยความจำทำงานผิดพลาด RAM หลวมหรือเสีย ให้ทำการเปลี่ยน/ทำความสะอาดหน้าสัมผัส/ทดสอบ
  • ปิ๊บสั้น 3 หรือ 4 ครั้ง : เหมือนข้อบน ชุดควบคุมสัญญาณนาฬิกาหน่วยความจำเสีย ให้หยุดใช้ Mainboard หากได้ยินเสียงนี้
  • ปิ๊บสั้น 6 ครั้ง : Gate A20(ตัวความคุมคีย์บอร์ด) ผิดปกติ ให้หยุดใช้ Mainboard หากได้ยินเสียงนี้
  • ปิ๊บสั้น 7 ครั้ง : CPU หรือ Mainboard ใกล้จะพัง
  • ปิ๊บสั้น 8 ครั้ง : การ์ดจอหลวม หรือได้รับความเสียหาย


ฯลฯ

ที่มา : http://www.pchell.com/hardware/beepcodes.shtml#ami

----------------

Award Modular

  • ปิ๊บสั้น 1 ครั้ง : เครื่องทำงานปกติ
  • ปิ๊บยาว 1 ครั้ง สั้น 2 ครั้ง : การ์ดจอหลวม หรือได้รับความเสียหาย
  • ปิ๊บยาว 1 ครั้ง สั้น 3 ครั้ง : ไม่ได้ติดตั้งการ์ดจอ หรือ RAM ปกติเอาไว้ทดสอบการตอบสนองของ Mainboard แต่ถ้าใส่แล้วร้องแบบนี้ การ์ดจอหรือ RAM หลวม หรือได้รับความเสียหายแน่นอน


ฯลฯ

ที่มา : http://pcsupport.about.com/od/fixtheproblem/tp/award-beep-codes.htm

----------------

Pheonix BIOS

ถือว่าเสียงปิ๊บของผู้ผลิดรายนี้ดูแปลกกว่าเขา เพราะมันดังเป็นจังหวะเสียงคนพูดตัวเลขอังกฤษ ซึ่งผู้เขียนเองยังไม่เคยได้ฟังเสียงจาก BIOS รุ่นนี้มาก่อน ก็เท่าที่เข้าใจครับ

ยกตัวอย่าง : 1-1-3 = One หยุด One หยุด Three

1-1-3 : ไม่สามารถอ่านค่า CMOS ได้ หรือ BIOS ได้รับความเสียหาย ให้ถอดชิบ BIOS ไป Flash ใหม่

1-2-2 หรือ 1-2-3 หรือ 1-3-4 และ 1-4-1 : Mainboard เสีย

3-2-4 : Gate A20(ตัวความคุมคีย์บอร์ด) ผิดปกติ ให้หยุดใช้ Mainboard หากได้ยินเสียงนี้

3-3-4 : การ์ดจอหลวม หรือได้รับความเสียหาย

4-3-4 : นาฬิกา BIOS ถูกริเซต หรือแบตเตอรี่ BIOS หมด

ฯลฯ

ที่มา : http://www.pchell.com/hardware/beepcodes.shtml#phoenix

----------------

เอาล่ะ ถือแนะนำเอาคร่าวๆ พอเข้าใจถึงอุปกรณ์พื้นฐานที่สามารถสร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใช้งานได้ 1 เครื่อง ถึงแม้ว่าอุปกรณ์บางชิ้นจะไม่มีการสนับสนุน หรือเพิ่งประกาศเป็นมาตรฐานออกมาใหม่ๆ แต่จุดประสงค์สำคัญนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านผู้ชมได้รู้จัก และสามารถนำไปจำแนกชนิด รุ่น และอุปกรณ์ที่มีติดมา รวมไปถึงสามารถวิเคราะห์อาการเสีย เพื่อหาจุดบกพร่องหากคอมพิวเตอร์มีปัญหาในภายหลังได้

แล้วพบกันใหม่ในเอนทรีหน้าครับผม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น